การส่งเสริมความตระหนักของชุมชนเชียงแสนต่อคุณค่าด้านโบราณสถานเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

สุณีย์ บริสุทธิ์

Abstract

งานวิจัยมุ่งส่งเสริมให้ชาวเชียงแสนเกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถาน โดยมุ่งให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้เข้าใจแนวทางการอนุรักษ์โบราณสถานไว้อย่างยั่งยืนสืบไปถึงลูกหลาน อีกทั้งยังมีแนวทางให้ชาวเชียงแสนสามารถสร้างรายได้จากโบราณสถาน ในรูปแบบของการให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานของเชียงแสน และมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีได้ด้วยตนเอง และมีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าเงินรายได้จากการท่องเที่ยวมิได้เป็นเป้าหมายสูงสุดของคนชุมชน การท่องเที่ยวเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างรายได้ เพื่อนำไปสู่การธำรงค์รักษาโบราณสถานให้คงอยู่ได้นานเท่านาน โดยมีการจัดการผลตอบแทนที่กระจายอย่างทั่งถึง ผลจากการวิจัยจะช่วยลดปัญหาการบุกรุกโบราณสถาน และก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีแห่งใหม่ที่นำเสนอคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ประชากรที่ศึกษาจำนวน 3,759 คน เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หมู่ 2 และหมู่ 3 โดยกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเลือกจากผู้นำชุมชนกลุ่มหลัก 7 กลุ่มและจากกลุ่มอื่นๆ อีกกว่า 9 กลุ่ม กระบวนการศึกษาวิจัยในการศึกษามี 5 ด้านได้แก่ 1) การสำรวจ ศึกษา และจัดเก็บข้อมูลบริบทของพื้นที่ ศึกษาจากเอกสาร สัมภาษณ์เจาะลึกและประชุมกลุ่ม (Focus Group Discussion) 2) การสำรวจปัญหา และค้นหาความต้องการของชุมชน จัดทำผัง Mind map ระดมความคิดเห็น และให้ชุมชนคัดเลือกแกนนำที่เป็นตัวแทน 3) การอบรมตัวแทนชุมชน ใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity Based) 4) ใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity Based) และ 5) จัดเวทีเพื่อให้แกนนำได้นำเสนอกิจกรรมต่างๆ ต่อประชาคม ทั้งนี้การวิเคราะห์ และประเมินผลออกมาในเชิงพรรณา

ผลการศึกษามีดังนี้

1) กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงคุณค่าของโบราณสถานเมืองเชียงแสนว่าเป็นแหล่งโบราณคดีทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมอนุรักษ์โบราณสถาน และเล็งเห็นแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยยึดแนวทางการธำรงรักษาไว้ซึ่งสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างยั่งยืน

2) อำเภอเชียงแสนตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางการท่องเที่ยว มีชื่อว่า สามเหลี่ยมมรกตโดยมีเส้นทาง R3A เชื่อมระหว่างไทย – ลาว – เมียนมาร์ ที่ได้ดำเนินการไปมากแล้วและกำลังจะเป็นรูปธรรมในเร็ววัน และมีแม่น้ำโขงเป็นทางสัญจรหลักไปสู่เมืองสำคัญของประเทศเพื่อนบ้าน

3) ผู้นำชุมชนและประชาชนสามารถรวมตัวกันจัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าของโบราณสถาน เช่นกิจกรรม Walk Rally ไหว้สา 9 โบราณสถาน งานบวงสรวงเจ้าพ่อประตูป่าสัก และเจ้าแม่นางเซิ้ง

4) ได้รวบรวมเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะ ความเชื่อ พิธีกรรม ภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของเชียงแสนสมัยก่อนที่สูญหายไป และที่ยังคงมีอยู่จากผู้สูงอายุ

5) กลุ่มเชียงแสนการท่องเที่ยวสามารถเป็นแกนนำในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และได้รายได้จากการนำนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมความสวยงามทางธรรมชาติ และโบราณสถานเมืองเชียงแสน

Article Details

Section
Research Articles