แนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานของสถานประกอบการในเขตภาคเหนือตอนบนแบบองค์รวม

Main Article Content

สุพจน์ กุลปรางค์ทอง
สมพงษ์ ฝูงคน
จันทร์จิตร เธียรสิริ
วีระพันธ์ อะนันชัย
ปกรณ์ อุดมธนะสารสกุล
นฤดี มั่งวงค์วิโรจน์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการแรงงานของสถานประกอบการในเขตภาคเหนือตอนบน ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมและเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาแรงงานแบบองค์รวม ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ปัญหาและความต้องการด้านแรงงานของสถานประกอบการในเขตภาคเหนือตอนบน เป็นปัญหาที่มีความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยต้องอาศัยความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถสรุป ได้ดังนี้

1. การขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ระดับ ปวส. ระดับ ปวช. การขาดแคลนแรงงานเฉพาะทาง และการขาดแคลนแรงงานหัตถอุตสาหกรรม

2. การขาดทักษะฝีมือแรงงานและความรู้พื้นฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ

3.ปัญหาการขาดวินัยอุตสาหกรรมที่จำเป็น เช่น การขาดความรับผิดชอบ การขาดงานในช่วงเทศกาลและฤดูเก็บเกี่ยว และต้องการให้แรงงานมีความรับผิดชอบในงาน ความอดทน การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา เป็นต้น

4.ปัญหาการขาดความร่วมมือด้านการพัฒนาแรงงานอย่างจริงจัง ระหว่างสถานประกอบการ กลุ่มสถานประกอบการ หน่วยงานที่ให้บริการด้านแรงงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแรงงาน

จากผลสรุปปัญหาด้านแรงงานดังกล่าว ทำให้แต่ละอุตสาหกรรมต้องการเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่ทำให้ความสำคัญในแต่ละประเด็นที่แตกต่างกันไป คือ

- อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ในจังหวัดเชียงราย เน้นให้สถาบันการศึกษาเปิดสอนหลักสูตรวิชาเฉพาะทางโลจิสติกส์มากขึ้น และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงาน เพื่อให้นำไปใช้ได้จริง

- อุตสาหกรรมอาหาร ในจังหวัดเชียงใหม่ เน้นให้สถานประกอบการให้ความสำคัญกับแรงงานโดยการสร้างทางการก้าวหน้าในอาชีพ (career path) ที่ชัดเจน สร้างระบบแรงจูงใจด้วยผลตอบแทน และให้การสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา

- อุตสาหกรรมธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ ในจังหวัดเชียงใหม่ เน้นให้สถาบันการศึกษาเพิ่มหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธาณสุขในสายงานที่มีความต้องการ และปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม

- อุตสาหกรรมโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง เน้นให้ภาครัฐดูแลลักษณะการจ้างงานของสถานประกอบการ เน้นให้สถาบันการศึกษาปลูกฝังความรู้ ทักษะ และปลูกฝังจิตสำนึกรักในงานบริการ เน้นให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามวุฒิการศึกษา และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่แรงงาน

- อุตสาหกรรมเซรามิก ในจังหวัดลำปาง เน้นให้สถานประกอบการมีการฝึกฝีมือแรงงาน เน้นให้สถาบันการศึกษามีการพัฒนาทักษะพื้นฐานให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ นอกจากนี้ทุกๆ หน่วยงานควรมีส่วนร่วมในการก่อตั้งกลุ่มคลัสเตอร์เซรามิก

- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในจังหวัดลำพูนเน้นให้สถาบันการศึกษาจัดหลักสูตรการเรียนที่เน้นการเสริมสร้างประสบการณ์ เพื่อนำไปใช้จริง และปลูกฝังคุณธรรมและวินัย

- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ในจังหวัดลำพูน เน้นให้สถานประกอบการมีการปรับระบบการสรรหาแรงงาน

- อุตสาหกรรมแปรรูป ในจังหวัดน่าน เน้นให้สร้างค่านิยมการทำงานที่ดีแก่แรงงาน เช่น ด้านความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ความขยัน อดทน

ซึ่งจากผลการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานของแต่ละอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลเลิศในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานแบบองค์รวม ทีมวิจัยเสนอว่า

1. ในการจัดการปัญหาแบบองค์รวม ควรมีการเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งคณะทำงานฯ ที่ประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ของตนร่วมกัน ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ การเห็นความสำคัญและการให้ความร่วมมืออย่างจริงจังของหัวหน้าหน่วยงาน

2. ในการกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมนั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการจัดการ ตั้งแต่การร่วมกำหนดหัวข้อปัญหา การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย การร่วมวางยุทธศาสตร์ การร่วมประเมินผลตลอดจนการเสนอตัวเป็นหน่วยงานหลักในแต่ละยุทธศาสตร์ตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ การมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอในทุกกระบวนการ และการเสนอตัวเป็นหน่วยงานหลักในยุทธศาสตร์ที่สอดรับภารกิจของหน่วยงาน

3. ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมนั้น ต้องอาศัยคณะทำงานฯ ในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อนโดยเริ่มด้วยการร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แล้วกระจายแต่ละยุทธศาสตร์ออกเป็นกลุ่มย่อยๆ จากนั้นกลุ่มย่อยก็จะดำเนินการร่วมกันในแต่ละยุทธศาสตร์ แล้วนำมาสรุป ประเมินผลร่วมกันในระดับคณะทำงาน

4. ควรมีการประชาสัมพันธ์ผลจากการวิจัยในครั้งนี้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแรงงานในระดับท้องถิ่นโดยคณะทำงานฯ ในแต่ละจังหวัดควรนำผลการศึกษาครั้งนี้ไปเป็นวาระในการขับเคลื่อนคณะทำงานให้เกิดการดำเนินการที่ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และควรประชาสัมพันธ์ผลจากการวิจัยในครั้งนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลการแก้ไขปัญหาแรงงานแบบองค์รวมในภูมิภาคอื่นหรือ กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ อันจะสร้างความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้

5. ควรมีการประชาสัมพันธ์รูปแบบการจัดการแบบองค์รวมที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เพื่อให้เกิดการประสานและเชื่อมโยงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงสุดในการใช้ทรัพยากรบุคคล และงบประมาณ เพื่อตอบสนองภารกิจหลักของหน่วยงานและตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม

Article Details

Section
Research Articles