สิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ผู้แต่ง

  • บุญส่ง ชเลธร หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำสำคัญ:

สิทธิประโยชน์, สวัสดิการสังคม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

บทคัดย่อ

          การศึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษานโยบาย และสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมที่มีอยู่ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จัดให้แก่ประชาชน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบของการวิจัยเอกสารและการวิจัยสนามโดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ ผลการวิจัยพบว่า (ก) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคนตามหลักการกรอบแผนปฏิบัติการการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ได้แก่ การผลักดันให้เกิดสังคมสวัสดิการ การพัฒนาสังคมเข้มแข็งพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การเสริมสร้างพลังทางสังคมการยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการด้านการพัฒนาสังคม อีกทั้งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนางานวิชาการด้านการพัฒนาสังคม สวัสดิการสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 รวมทั้งพันธสัญญาระหว่างประเทศที่กระทรวงฯ เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 (ข) กระทรวงฯ ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนตามกลุ่มเป้าหมาย คือ (1) กลุ่มเด็กและเยาวชน ให้สงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในสถานแรกรับ สถานวงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟู (2) สตรี โดยการฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต อบรมให้ความรู้เพื่อป้องกันการถูกล่อลวง และประสานให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ (3) ผู้สูงอายุ ให้คำแนะนำ ปรึกษาดำเนินการแก้ไขปัญหาครอบครัว จัดหาที่พักอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่มและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการบริการทางการแพทย์ (4) ผู้พิการ โดยการสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย การศึกษา อาชีพคนพิการ และให้การสงเคราะห์ครอบครัว (5) ผู้ด้อยโอกาส โดยการอุปการะในสถานสงเคราะห์ และเสริมสร้างศักยภาพในการฝึกอาชีพ (6) ผู้ได้รับความเสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยให้ความช่วยเหลือ บำบัด คุ้มครอง พัฒนาอาชีพ และประสานการช่วยเหลือทางคดี (7) ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด พัฒนาศักยภาพฟื้นฟูร่างกายจิตใจ สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้

References

กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์. (2550). รัฐสวัสดิการ: เครื่องมือสร้างความเป็นธรรมในสังคม ในเอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ โดย ภาควิชาสังคมสงเคราะห์-ศาสตร์, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2550.
คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแห่งชาติ. (2554). แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี สร้างสวัสดิการสังคม ไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550-2554). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม.
ระพีพรรณ คำหอม. (2549). สวัสดิการสังคมกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: อารยัน มีเดีย.
สันติ พร้อมพัฒน์. (2554). ยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ-มนุษย์ พ.ศ. 2555-2559. กรุงเทพฯ: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง-ของมนุษย์, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ.
สำนักบริการสวัสดิการสังคม. (2555). ผลการดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจชุมชน บนพื้นที่สูง. กรุงเทพฯ: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-04-12