การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษา
คำสำคัญ:
ปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษา, ศิลปศึกษาบทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางในการจัดการเรียนการสอนวิชาปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษา
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงผสมผสาน (Mixed Method) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือ 1. หลักสูตรศิลปศึกษาในประเทศไทยที่มีการจัดการเรียนการสอนวิชาปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ 1) สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 3) สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2.อาจารย์ผู้จัดการเรียนการสอนและ/หรือผู้ประสานงานรายวิชาปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 3 แห่ง 3.อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษา และ 4.อาจารย์ในหลักสูตรศิลปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังไม่เปิดสอนวิชา ปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง แบบสังเคราะห์เอกสาร ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการเรียนการสอนวิชาปริญญานิพนธ์ทางศิลปศึกษาที่พึงประสงค์สำหรับสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศไทย มีทั้งหมด 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การวิจัยเพื่อการสร้างสรรค์ เป็นการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพื้นฐาน เทคนิควิธีการ ข้อมูลแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอย่างมีระบบโดยอาศัยระเบียบวิธีวิจัยเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่จะเกิดคุณประโยชน์ทางด้านการศึกษา และ รูปแบบที่ 2 การวิจัยผลงานสร้างสรรค์ เป็นการศึกษาค้นคว้าตัวผลงานศิลปกรรม/ผลงานสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การวิเคราะห์แนวคิดทฤษฎีในการสร้างสรรค์ผลงาน ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ โดยอาศัยระเบียบวิธีวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้าผลงาน สร้างสรรค์อย่างละเอียดเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ แนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ทางการศึกษา