การพัฒนาการจัดการศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อความยั่งยืนในเคนย่า
Main Article Content
บทคัดย่อ
การปริทัศน์บทความนี้เป็นการปริทัศน์งานวิจัยของ Anudo จาก Kabianga University และ Orwa จาก United State International University – Africa เรื่อง การพัฒนาการจัดการ ศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อความยั่งยืนในเคนย่า (Improving Technical and Vocational Education and Training in Kenya for Sustainable Development) ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2020 ใน African Journals Online เป็นบทความที่ใช้สำนวนการเขียนงานวิจัยที่อ่านง่าย มีการนำเสนอข้อมูลตามลำดับขั้นตอนไว้อย่างเหมาะสม นำเสนอผลการศึกษาให้เห็นเป็นข้ออย่างชัดเจน ครอบคลุมประเด็นการวิจัย ซึ่งผู้ปริทัศน์มีความเห็นโดยแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- หัวข้องานวิจัย งานวิจัยนี้มีความน่าสนใจ มีความทันสมัยตรงที่หยิบประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เนื่องจากเหตุผลสำคัญคือ การจัดการศึกษาอาชีวศึกษายังขาดการให้ความสำคัญในเชิงนโยบาย เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้ง ๆ ที่คุณภาพหรือทักษะของแรงงานเป็นเรื่องจำเป็นต่อภาคการผลิตของประเทศ ดังนั้น เมื่องานวิจัยนี้ได้มุ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความสนใจในการพัฒนาการจัดการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ จึงเป็นเรื่องน่าสนับสนุน และเมื่อพิจารณาการพัฒนาการจัดการศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมในเคนยา ยังประสบปัญหาและมีอุปสรรคอยู่หลายประการด้วยกัน ผู้ปริทัศน์จึงเห็นว่างานวิจัยนี้มีความสำคัญในแง่ของข้อมูลสนับสนุนที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาของเคนย่า และอาจนำไปใช้เป็นแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาอาชีวศึกษาในประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างคุณภาพและพัฒนาทักษะในการทำงานของผู้เรียนให้มีความยั่งยืนอันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
- แหล่งข้อมูลการศึกษา วิจัยฉบับนี้มีแหล่งข้อมูลในการศึกษาที่มีความหลากหลาย เป็นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการวิจัย นับตั้งแต่แนวคิดด้านการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ทฤษฎีการเรียนรู้ เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สำหรับแหล่งข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ได้แสดงบทความสัมภาษณ์ประกอบในงานวิจัย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความตรง ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์เนื้อหาจากบทสัมภาษณ์จึงทำให้เชื่อมั่นในวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริง สามารถนำมาอ้างอิงและกำหนดให้เป็นแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมได้จริง ในส่วนแหล่งข้อมูล การพัฒนาการจัดการศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษา ให้เกิดคุณภาพและยั่งยืน ข้อมูลที่นำมาอ้างอิงจากงานวิจัยต่าง ๆ มีที่มาจากประเทศทั้งในภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาค ซึ่งเป็นการนำผลการวิจัยมาเทียบเคียงกับสถานการณ์ของเคนย่า ทำให้มองเห็นถึงการใช้ผลการวิจัยนั้น ๆ มาเป็นแนวทางประกอบเพื่อให้ครอบคลุมประเด็นการวิจัย ทั้งในเรื่องอุปกรณ์การฝึกอบรมและการได้มาของทักษะการจ้างงานโดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมในด้านเทคนิคสาธารณะและอาชีวศึกษาและสถาบันฝึกอบรมในเขตไนโรบี การวิเคราะห์สถานการณ์ภาคการศึกษา รายงานฉบับสุดท้ายด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม การปรับปรุงอาชีวศึกษาด้านเทคนิคและการฝึกอบรมในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน – อิรัก รวมถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสารทฤษฎี ทั้งนี้จากเอกสารแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าว ผู้ปริทัศน์เห็นว่า แหล่งข้อมูลมีความสอดคล้อง เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินการวิจัย การสัมภาษณ์แสดงให้เห็นปัญหาในแต่ละประเด็นทำให้ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการสะท้อนความคิดที่มาจากประสบการณ์ของผู้ให้สัมภาษณ์เอง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรม ในส่วนของข้อมูลหลักการความยั่งยืน งานวิจัยใช้การอ้างอิงจาก UNESCO-UNEVOC ซึ่งนำมาอธิบายสนับสนุนแนวคิดด้านเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับผู้เรียน แต่ขาดน้ำหนักด้านหลักการความยั่งยืน หากมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในการจัดการศึกษา เช่น รูปแบบของการศึกษาเพื่อความยั่งยืน หรือตัวชี้วัดความยั่งยืนทางการศึกษา จะเป็นการเพิ่มความชัดเจนให้กับแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่ผู้วิจัยเสนอไว้ และเป็นแนวทางสำหรับการนำไปใช้เพื่ออ้างอิงการวิจัย
- กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล กลุ่มตัวอย่างเป็นครูและผู้ฝึกสอนของ Technical and Vocational Education and Training (TVET) โดยเลือกจากผู้ตอบแบบสอบถาม 50 คน เป็นหัวหน้าแผนก 10 คน จากสถาบัน Technical and Vocational Education and Training (TVET) ทั้งหมด 5 แห่ง ในเขต Homabay ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลโดยใช้ตารางการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์และตีความเนื้อหา สรุปผลในรูปแบบตารางและกราฟเพื่อแสดงจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม และสรุปรายงานการวิจัยเป็นประเด็นความคิดเห็น ซึ่งผู้วิจัยได้นำทฤษฎี Functional Context โดย Sticht et al (1991) มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการตอบสมมติฐานที่ว่านักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่อมีการเรียนการสอนโดยใช้ฐานความรู้เดิม และนำทฤษฎีพื้นฐาน (Grounded) มาอ้างอิงผลการวิจัยทำให้มีเกิดข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนใน 4 ด้าน คือ ประการแรกการให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน ประการที่สองต้องมีการพัฒนาเนื้อหาสำหรับการเรียน พัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและการออกแบบสื่อหรือเครื่องมือการเรียนรู้ ประการที่สามต้องใช้เครื่องมือและสื่อตรงกับสิ่งที่นักเรียนกำลังเรียนรู้ และประการสุดท้ายต้องประเมินการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ จากวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าว ผู้ปริทัศน์เห็นว่าการใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจากครูและผู้ฝึกสอนของสถาบันเองทำให้ทราบข้อดีข้อด้อยและปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นการสะท้อนปัญหาได้ชัดเจนจากมุมมองของผู้ที่ปฏิบัติงาน เป็นการสร้างความมั่นใจในข้อมูลการวิจัยว่าสามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือประยุกต์ใช้ในงานวิจัยอื่น ๆ หรือนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งการวิเคราะห์เนื้อหาโดยมีทฤษฎีการเรียนรู้เป็นกรอบเบื้องต้น ทำให้สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาของสถาบันเหล่านี้ได้ หากแต่ถ้ามีการเพิ่มกลุ่มตัวอย่างจากสถาบันการอาชีวศึกษาและอบรมวิชาชีพอื่น ๆ สะท้อนมุมมองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของสถาบัน หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น หรือสถาบันที่มีบทบาทหน้าที่สอดคล้องใกล้เคียงกับสถาบัน Technical and Vocational Education and Training (TVET) อาจจะมองเห็นปัญหาในด้านอื่น เป็นการเพิ่มเติมข้อมูลให้มีมิติที่กว้างขึ้น หรือพบปัญหาและแนวทางการพัฒนาหลากหลายมากยิ่งขึ้น
- ผลการศึกษา จากผลการศึกษาวิจัยในงานนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษาข้อมูลหรือประเด็นของปัญหาที่พบในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เนื่องจากงานวิจัยได้ชี้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจัดการศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมของเคนย่า ใช้การนำเสนอในรูปแบบสรุปเป็นประเด็นปัญหา นับตั้งแต่ การขาดเงินทุนพัฒนา อุปกรณ์เครื่องมือล้าสมัย การขาดครูที่มีความชำนาญหรือประสบการณ์ในการสอน พร้อมกับการเสนอแนวทางการจัดการศึกษาทำให้มีการเสนอพบว่าการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาให้เกิดความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องพัฒนา กระบวนการ ทรัพยากรของ สถาบัน Technical and Vocational Education and Training (TVET) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านอาชีวศึกษา ทั้งการเพิ่มเงินทุน การจัดหาและบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้ทันสมัย การเสริมสร้างโปรแกรมการให้คำปรึกษาในสถาบัน การยอมรับแนวทางการสอนที่มีประสิทธิภาพ การจ้างผู้ฝึกสอนที่เพียงพอในด้านเทคนิควิชา การบริการจัดการจัดเงิน ส่งเสริมความร่วมมือและความร่วมมือกับภาคเอกชน ดำเนินการติดตามและประเมินผลอย่างเพียงพอ ส่งเสริมการวิจัยด้านเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมและการปลูกฝังผู้เรียน ซึ่งจากผลการวิจัยนี้ ผู้ปริทัศน์เห็นว่าควรนำตัวชี้วัดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มากำหนดเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับ คู่มือ Greening การศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาแนวทางปฏิบัติสำหรับสถาบันต่าง ๆ โดย UNESCO-UNEVOC (2017) การศึกษาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติองค์การวัฒนธรรม กล่าวถึงการพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาต้องมีความพร้อมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ ต้องจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับการศึกษาในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรม ของงานวิจัยนี้อาจเป็นแนวทางการพัฒนาต่อเนื่องไปสู่นวัตกรรมทางการศึกษาต่อไป
- ข้อเสนอแนะ การวิจัยฉบับนี้มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากการสัมภาษณ์เชิงลึกครูหรือผู้ฝึกสอน ทั้งนี้แล้ว การศึกษาควรจะเพิ่มกลุ่มตัวอย่างสำหรับการวิเคราะห์เนื้อหา จากบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สถาบันอบรมวิชาชีพอื่น ๆ สถานประกอบการภาคธุรกิจในฐานะผู้ว่าจ้าง รวมถึงผู้ปกครองของนักเรียนเอง ซึ่งจะได้ข้อมูลการวิจัยที่รอบด้านมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาการจัดการศึกษาเทคนิค อาชีวศึกษาและการฝึกอบรมอย่างยั่งยืน
Article Details
How to Cite
บท
บทความปริทรรศน์