ความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องประดับอัญมณีของชาวไทยและชาวต่างชาติ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการผลิตภัณฑ์อัญมณีของชาวไทยและชาวต่างชาติเพื่อศึกษาความแตกต่างด้านความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องประดับอัญมณีของชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยใช้วิธีการสำรวจด้วยแบบสอบถาม (Questionnaire) เชิงปริมาณ (Quantitative Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ชาวไทยที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย 200 คน และชาวต่างชาติที่เดินทางจากท้องถิ่นที่อยู่โดยปกติของตนมายังประเทศไทยเป็นการชั่วคราว 200 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญหรือตามความสะดวก (Convenience Sampling) จากท่าอากาศยาน บริษัททัวร์ และร้านจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณีตามห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพมหานคร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาแสดงจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้การวิเคราะห์ค่าสถิติ t–test
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 25 – 35 ปี สถานภาพสมรส ระดับการศึกษาปริญญาตรี ประกอบอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 50,000 บาท ซื้อเครื่องประดับปีละ 2 – 3 ครั้ง มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทแหวนตัวเรือนเป็นทองคำโดยใช้อัญมณีเพชร งบประมาณ 10,001 – 30,000 บาท มีเหตุผลในการซื้อเพื่อโอกาสพิเศษต่าง ๆ ส่วนชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 25 – 35 ปี สถานภาพสมรส ระดับการศึกษาปริญญาตรี ประกอบอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว มีรายได้ต่อเดือน 100,001 – 500,000 บาท ซื้อเครื่องประดับปีละครั้ง มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทแหวน ตัวเรือนเป็นทองขาวโดยใช้อัญมณีเพชร งบประมาณ 30,001 – 50,000 บาท มีเหตุผลในการซื้อเพราะชอบรูปแบบเครื่องประดับอัญมณี
ความต้องการผลิตภัณฑ์อัญมณีในแต่ละด้านตามส่วนประสมทางการตลาด ชาวไทยให้ระดับความสำคัญมากที่สุด คือ ด้านราคาและด้านส่งเสริมการขาย โดยต้องการให้มีป้ายราคาบอกชัดเจน พนักงานขายมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าเป็นอย่างดี มีบุคลิกและอัธยาศัยดี ส่วนด้านผลิตภัณฑ์และด้านช่องทางการจำหน่ายให้ความสำคัญในระดับมาก โดยต้องการให้มีใบรับประกันคุณภาพสินค้าและต้องการเครื่องประดับอัญมณีจากร้านที่เปิดมานานเป็นที่เชื่อถือ ส่วนชาวต่างชาติให้ระดับความสำคัญต่อความต้องการผลิตภัณฑ์อัญมณีในแต่ละด้านตามส่วนประสมทางการตลาดทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับมาก โดยแยกส่วนประสมทางการตลาดแต่ละด้านที่มีความต้องการ คือ ด้านผลิตภัณฑ์ ต้องการใบรับประกันสินค้า ด้านราคาชำระได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต ด้านส่งเสริมการขาย ต้องการพนักงานขายที่มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าเป็นอย่างดี ด้านช่องทางการจำหน่าย ต้องการร้านขายผลิตภัณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยว การทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าสถิติ t-test พบว่า ชาวไทยและชาวต่างชาติมีความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องประดับอัญมณีแตกต่างกันในด้านราคา ด้านช่องทางการจำหน่าย และด้านส่งเสริมการขาย ส่วนความต้องการในด้านผลิตภัณฑ์ไม่แตกต่างกัน โดยมีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทแหวนเหมือนกัน ชาวไทยต้องการตัวเรือนเป็นทองคำแต่ชาวต่างชาติต้องการทองขาวโดยใช้อัญมณีเพชรเช่นเดียวกัน
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว
References
ธนัชญา สร้อยสมยา. (2554). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการซื้อปลีกพลอยและอัญมณี. (การค้นคว้าอิสระบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. ปทุมธานี.
ประภัสสร เถรวัลย์ และ วรนารถ แสงมณี. (2558). ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อเครื่องประดับและอัญมณีแท้ของร้านไนน์เจมส์และร้านเรียลเจมส์. วารสารครุศาสตร์อุตสาหกรรม, 14(3), 631-638.
รวีพลอย อนันตกูล. (2560). ปัจจัยและพฤติกรรมการเลือกซื้ออัญมณีจากประเทศพม่าของคนไทย. (วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยบูรพา. ชลบุรี.
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน). (2561). สถานการณ์การนำเข้า - ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปี 2560. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2561, จาก https://infocenter.git.or.th/Content_View.aspx?id=2402&mail=1
หนึ่งฤทัย เทียนกระจ่าง. (2558). ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา. (การค้นคว้าอิสระเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ.