การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียนในชุมชนตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

แสงระวี ณ ลำพูน
สมชาย ใจบาน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาศักยภาพ ปัญหา และความต้องการของครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน และเพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน เพื่อวัดและประเมินผลคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะอาชีพของนักเรียนชุมชนตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครู และผู้บริหาร รวม 12 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถาม แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบทดสอบ แบบวัดทักษะครู และแบบประเมินคุณภาพผู้เรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา


1. จากการศึกษาศักยภาพ ปัญหา และความต้องการของครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน พบว่า ครูทุกคนยังไม่มีประสบการณ์การสอนและการอบรมเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน ดังนั้นครูทุกคนจึงมีความต้องการได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพของเด็กนักเรียน โดยมีความต้องการทำชุดกิจกรรมที่สอดคล้องกับสภาพจริงของชุมชนโดยรอบ ตลอดจนให้นักเรียนนำความรู้จากชุดกิจกรรมมาจัดทำโครงงานที่มีการพัฒนาด้านอาชีพโดยเชื่อมโยงบูรณาการกับพื้นที่โดยรอบโรงเรียน ครูมีความต้องการด้านวัสดุ อุปกรณ์ และหนังสือเรียน เนื่องจากสื่อการสอนที่มีอยู่นั้นชำรุดไม่เหมาะสมกับการใช้ประกอบการเรียนการสอน และจากการสนทนากลุ่ม พบว่า งบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ผู้ปกครองขาดความเอาใจใส่ลูกหลานของตน ปัญหาการโยกย้ายของครู โรงเรียนเน้นการสอนวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว ด้านกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพควรจัดในกิจกรรมชมรม ศิลปะสร้างสรรค์


2. ผลการพัฒนาทักษะการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพของนักเรียน พบว่า ชุดกิจกรรมที่พัฒนาอยู่ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง วัสดุรอบตัว มี 4 กิจกรรม จำนวน 10 ชั่วโมง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง การออกแบบผลิตภัณฑ์มี 2 กิจกรรม จำนวน 6 ชั่วโมง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง ออนไลน์เก๋ไก๋ มี 2 กิจกรรม จำนวน 6 ชั่วโมง ผลการทดสอบความรู้ก่อนและหลังของครูเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนเพิ่มมากขึ้น หลังการได้รับการอบรม ระดับทักษะการออกแบบชุดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ครูมีทักษะการเขียนคำอธิบายรายวิชากับมาตรฐานการเรียนรู้มีความสอดคล้อง เชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสม โดยมีทักษะการกำหนดคะแนนในแต่ละหน่วยมีความเหมาะสมมากที่สุด ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ ผังมโนทัศน์มีความชัดเจน เข้าใจง่าย และด้านการจัดทำหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ มีความสอดคล้องกับคำอธิบายรายวิชา และโครงสร้างรายวิชา


3. ผลการวัดและประเมินผลคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะอาชีพของนักเรียนในชุมชนตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย พบว่า ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยคุณภาพระดับดีมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ในระดับทักษะดี คือ ด้านความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงาม การทำงานสะอาดเรียบร้อย มีทักษะการคิดวิเคราะห์และตอบคำถามได้ถูกต้อง ชัดเจน สมบูรณ์ทุกข้อ ในระดับทักษะดีมาก คือ ทำงานเสร็จทันเวลาที่กำหนด นำเสนอผลงานเนื้อหาถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน มีการใช้ภาษาถูกต้อง


คำสำคัญ: กิจกรรมการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ชนิตา รักษ์พลเมือง และ จรูญศรี มาดิลกโกวิท. (2547). รายงานการวิจัยสภาวะการขาดแคลนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.

พนมพร ค่ำคูณ. (2556). การพัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช เพื่อพัฒนาทักษะการคิดโดยใช้รูปแบบการสอนแบบวัฏจักรสืบเสาะหาความรู้. (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์. ฉะเชิงเทรา.

วรลักษณ์ ชูกำเนิด, เอกรินทร์ สังข์ทอง และ ชวลิต เกิดทิพย์. (2557). รูปแบบชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู สู่การเรียนรู้ในศตวรรษ ที่ 21 บริบทโรงเรียนในประเทศไทย. วารสารหาดใหญ่วิชาการ, 12(2), 123-134.

วิเชียร ธำรงโสตถิสกุล. (2560). บทสะท้อนแนวคิดว่าด้วยชุดการสอนชุดกิจกรรมการเรียนรู้และชุดการเรียนรู้. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 19(3), 356-369.

สมชาย ใจบาน และ แสงระวี ณ ลำพูน. (2561). การพัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์โดยใช้ทรัพยากรท้องถิ่นของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 7(2), 180-193.

อดุลย์ วังศรีคูณ. (2557). การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 : ผลผลิตและแนวทางการพัฒนา. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, 8(1), 1-17.