ยุทธศาสตร์การจัดการความปลอดภัยของอาหารในการค้าระหว่างประเทศ ของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทย

Main Article Content

สุณีชญาน์ ฉัตรบุรานนทชัย

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ คือ 1) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การจัดการความปลอดภัยอาหารในการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทย 2) เพื่อศึกษาปัจจัย การนำยุทธศาสตร์การจัดการความปลอดภัยอาหารด้านการจัดการห่วงโซ่การผลิตและ การจัดการระบบมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทยกับมาตรฐานสากลไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ และ 3) เพื่อเสนอแนะแนวทางยุทธศาสตร์การจัดการความปลอดภัยอาหารอย่างเป็นระบบเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มศักยภาพในการค้าระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทย


ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีการดำเนินการวิจัย (Methodology) ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประเภทการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) โดยใช้เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ เอกสารและการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth Interview) ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ประกอบการอาหารเครื่องปรุงรสไทย และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้


1. ยุทธศาสตร์ด้านอาหารปลอดภัยในการค้าระหว่างประเทศ มีจุดแข็งในด้านยุทธศาสตร์ กล่าวคือ รัฐบาลมียุทธศาสตร์อาหารปลอดภัยระดับชาติ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560–2579) ยุทธศาสตร์การพัฒนาครัวไทยสู่โลก (พ.ศ. 2559-2564) เป็นต้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายที่ชัดเจน โครงสร้างหน่วยงานมีเอกภาพในการบังคับบัญชา หน่วยงานมีกฎหมาย ระเบียบ ที่กำหนดภาระหน้าที่ชัดเจน แต่การทำงานค่อนข้างยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ไม่เน้นกฎระเบียบมาก บุคลากรมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายเป็นสหวิชาชีพทำให้เกิดการคิดนอกกรอบ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ และบุคลากรมีความรู้ความสามารถตามสายงาน และการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเป็นไปโดยทั่วถึง


2. ปัจจัยความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตและการจัดการระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทยกับมาตรฐานสากล ประกอบด้วย 1) ปัจจัยด้านเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของนโยบาย 2) ปัจจัยด้านการกำหนดภารกิจการมอบหมายงาน สมรรถนะของหน่วยงานปฏิบัติ 3) ปัจจัยด้านการประชาสัมพันธ์และการกระตุ้นส่งเสริม 4) ปัจจัยด้านการควบคุมมาตรฐานและการประเมินนโยบาย และ 5) ปัจจัยด้านการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกร


3. แนวทางยุทธศาสตร์ควรเป็นยุทธศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่การผลิตให้มีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างจริงจัง และส่งเสริมการใช้สารชีวพันธุ์โดยให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องโทษสารเคมีและการใช้สารเคมีที่ถูกวิธี และส่งเสริม การจัดการมาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง


4. ข้อเสนอแนะ 1) รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทย 2) รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของห่วงโซ่การผลิตตามมาตรฐานความปลอดภัย 3) รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อความต่อเนื่องของนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมครัวไทยไปยังครัวโลก 4) รัฐบาลควรส่งเสริมความร่วมมือแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5) รัฐบาลควรลดการนำเข้าสารเคมีที่รุนแรง และควรส่งเสริมการใช้สารชีวพันธุ์ สนับสนุนเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ 6) รัฐบาลควรส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ. กรอบยุทธศาสตร์ด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย (พ.ศ. 2555-พ.ศ. 2559). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2563, จาก http://www.foodsafety.moph.go.th/document/Info_general/food_management.pdf

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย. (2558). โอกาสขยายตลาดเครื่องปรุงรสของไทยใน CLMV. วารสาร E-news EXIM Thailand, 10(12), สืบค้นจาก http://www. exim.go.th/eximinter/e-news/7530/enews_december2015_AEC.html

Global data. Opportunities in the global seasonings, dressings & sauces sector: Analysis of opportunities. Retrieved February 10, 2019 from https://www.sandlerresearch.org/opportunities-in-the-global-seasonings- dressings-sauces-sector-analysis-of-opportunities-offered-by-high-growth-economies.html