บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ : กรณีศึกษาชุมชนศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

อรุณี อินเทพ
ศุภชัย ยาวะประภาษ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนกับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 2) เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางยกระดับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในชุมชนศรีดอนชัยไปสู่การจัดการท่องเที่ยวที่รองรับผู้สูงอายุ และ 3) เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อรองรับผู้สูงอายุ


แนวคิดหลักที่ใช้เป็นฐานในการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมคือ แนวคิดของ Cohen and Uphoff (1980) และใช้วิธีดำเนินการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลโดยแบบสอบถามจากประชาชนชุมชนศรีดอนชัย จำนวน 4 หมู่บ้าน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบโควต้าจำนวน 260 ครัวเรือน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน


ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลหลายรูปแบบ ทั้งจากเอกสารทางราชการต่าง ๆ การลงพื้นที่สำรวจ และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญในชุมชนที่มีบทบาทโดยตรงในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของเอกชนในพื้นที่ โดยใช้วิธีสัมภาษณ์เบบเจาะลึก รวมทั้งได้ดำเนินการสัมภาษณ์และสังเกตแบบมีส่วนร่วมเพื่อทราบความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานดูแลนักท่องเที่ยว สังเกตวิธีปฏิบัติงานของผู้เกี่ยวข้อง จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์และตีความแบบนิรนัย


ผลการวิจัย พบว่า ชุมชนศรีดอนชัยมีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งด้านสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในชุมชน วัฒนธรรมการกิน และการแต่งกาย มีระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ชัดเจน ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด และภาคเอกชน อย่างต่อเนื่องแม้จะยังไม่เข้มแข็งนัก ขณะเดียวกันการอยู่ห่างไกลตัวจังหวัดเป็นจุดด้อยที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการไม่มาก เมื่อพิจารณาตามวัตถุประสงค์ของ
การศึกษา


ข้อค้นพบสำคัญมีดังต่อไปนี้


1. การมีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยวของคนในชุมชน พบว่า การมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลาง (gif.latex?\bar{X}= 2.76, S.D. = 0.86) ทั้งในขั้นตอนการตัดสินใจ (gif.latex?\bar{X}= 2.97, S.D. = 0.87) การดำเนินงาน (gif.latex?\bar{X}= 2.91, S.D. = 0.85) และการร่วมรับผลประโยชน์ (gif.latex?\bar{X}= 2.96, S.D. = 0.81) แต่มีส่วนร่วมน้อยมากในขั้นตอนการประเมินผล (gif.latex?\bar{X}= 2.22, S.D. = 0.93) เนื่องจากชุมชนไม่ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนนี้อย่างเป็นรูปธรรม และด้านเทศบาลตำบลศรีดอนชัยมีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยวในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแหล่งท่องเที่ยวและของชุมชนเป็นหลัก ส่วนกิจกรรมด้านอื่น ๆ จะเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งประสานงานเครือข่ายชุมชนและภาคีภาครัฐเป็นหลัก


2. แนวทางยกระดับการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนศรีดอนชัยไปสู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพผู้สูงอายุ ชุมชนจำเป็นต้องเพิ่มรูปแบบการให้บริการที่สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวสูงอายุ โดยพัฒนาบุคลากร พัฒนาเครือข่ายรัฐราษฎร์ด้านสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับผู้สูงอายุและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการทั้งในชุมชน ในที่พัก และในแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งเหล่านี้ล้วนต้องการความร่วมมือและกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งภายในชุมชนเอง และการสนับสนุนจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งที่เป็นสถานประกอบการในชุมชนและจากภายนอกชุมชน


3. แนวทางการจัดนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นที่หนุนเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนการจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับผู้สูงอายุ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เทศบาลตำบลศรีดอนชัยอาจจัดนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นบนพื้นฐานกระบวนการมีส่วนร่วมและปรับวิธีการดำเนินงานใน 2 ประเด็น คือ 1) เปลี่ยนจากการจัดนโยบายสาธารณะเพื่อส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวระดับ “ชุมชน” ไปสู่การส่งเสริมระดับ “เครือข่ายชุมชนจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” โดยต่อยอดความสำเร็จของชุมชนศรีดอนชัยในฐานะเป็นศูนย์เรียนรู้ และขยายผลสู่ชุมชนใกล้เคียง 2) จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา “เครือข่ายชุมชนจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพผู้สูงอายุ ตำบลศรีดอนชัย” ที่มุ่งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสัมฤทธิผลของยุทธศาสตร์ที่พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในบริบทสังคมผู้สูงอายุควบคู่ไปกับการพัฒนาสุขภาวะของคนในชุมชน การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองและมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนได้เป็นสำคัญ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ. (2552). แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564). กรุงเทพฯ: กระทรวงฯ.

เกื้อ วงศ์บุญสิน. (2559). ชาญชรารับมือ “สังคมสูงวัย”. ประชาคมวิจัย, 22(127), 24-26.

คณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย. (2559). รายงานการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2561 – 2564. (2561). คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดเชียงราย สำนักงานจังหวัดเชียงราย.

พจนา สวนศรี. (2546). คู่มือการจัดการท่องเที่ยวในชุมชน. กรุงเทพฯ: โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ.

ภูริ ชุณห์ขจร. (2563). การสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจกรรมระหว่างการท่องเที่ยวเชิงอาหารท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, 13(2), 31-44.

มหาวิทยาลัยมหิดล. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. (2561). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยฯ.

มหาวิทยาลัยมหิดล. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. (2562). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2561. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยฯ.

วีระพล ทองมา และ ประเจต อำนาจ. (2547). ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวต่อประชาชนในพื้นที่ตำบนแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

ศุภชัย ยาวะประภาษ และ ปิยากร หวังมหาพร. (2554). นโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เอื้อมพร พิชัยสนิธ. (2558). สังคมผู้สูงอายุที่พึงปรารถนากับการคลังที่สอดคล้อง : บทวิเคราะห์กรณีประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2563, จาก http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/26/

Cohen, J. M., and Uphoff, N. T. (1980). Participations place in rural development : Seeking clarity through specificity. New York: World Developments.