My Music Therapy Journey in Thailand

Authors

  • Napak Pakdeesatitwara Creative Arts and Music Therapy Research Unit, University of Melbourne

Keywords:

N/A

Abstract

หนังสือ “เส้นทางสู่ดนตรีบำบัดในประเทศไทย” (My Music Therapy Journey in Thailand) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.พรพรรณ แก่นอำพรพันธ์ เป็นหนังสือดนตรีบำบัดภาษาไทยเล่มแรกที่เขียนโดยนักดนตรีบำบัด ส่วนหนังสือดนตรีบำบัดภาษาไทยเล่มแรกนั้นเขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2551 ต่อมาได้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 หนังสือของ ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ มีลักษณะเนื้อหาเป็นการให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดนตรีบำบัด นำเสนอแบบตำราวิชาการ และมีการนำเสนอดนตรีบำบัดในทรรศนะของดนตรีชาติพันธุ์ (บุษกร บิณฑสันต์, 2553) ซึ่งแตกต่างจากหนังสือของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรพรรณ แก่นอำพรพันธ์

แม้ชื่อหนังสือ เส้นทางสู่ดนตรีบำบัดในประเทศไทย จะชวนให้เข้าใจว่าเป็นหนังสือทั่วไปที่บอกเล่าถึงเส้นทางสู่การเป็นนักดนตรีบำบัด แต่ด้วยเนื้อหาวิชาการที่มีรายการอ้างอิงประมาณ 200 รายการ ผ่านการร้อยเรียงให้เข้าใจง่าย ผู้วิจารณ์กลับมองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนผสมของตำราวิชาการทางดนตรีบำบัดและหนังสือแนวอัตชีวประวัติ หนังสือได้นำเสนอให้ผู้อ่านรู้จักกับดนตรีบำบัด เส้นทางสู่การเป็นนักดนตรีบำบัด การทำงานของนักดนตรีบำบัด การวิจัยในสายดนตรีบำบัด การเรียนการสอนดนตรีบำบัด และทรรศนะเกี่ยวกับอนาคตของดนตรีบำบัดในประเทศไทย เรียบเรียงในลักษณะเส้นทางชีวิตของผู้เขียน ตั้งแต่แรงบันดาลใจ จนถึงการเติบโตยิ่งขึ้นต่อไปในฐานะนักดนตรีบำบัด ราวกับได้ร่วมเดินทางประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนร่วมรับรู้ถึงความคิด การกระทำ เหตุผล และการเติบโตของผู้เขียน ทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ ทฤษฎี งานวิจัยสำคัญทางดนตรีบำบัดอยู่ตลอดเส้นทาง อันเป็นการเน้นย้ำถึงคุณลักษณะสำคัญของดนตรีบำบัด คือ การทำงานอันตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based practice)

โครงสร้างของหนังสือถูกแบ่งออกเป็น 8 บท ในบทที่ 1 ผู้เขียนได้สังเคราะห์นิยามของดนตรีบำบัดจากหลายแหล่งข้อมูล และลำดับประวัติความเป็นมาของดนตรีบำบัดตั้งแต่ที่มาและความเชื่อในยุคโบราณ การก่อร่างสร้างตัวเป็นวิชาชีพ และพัฒนาการของดนตรีบำบัดในฐานะวิชาชีพ ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญทางวิชาชีพที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ทั้งนี้ นิยามของดนตรีบำบัดที่หนังสือได้ให้ไว้เป็นนิยามที่ได้เรียบเรียงไว้อย่างดี รวบรัด เข้าใจได้ง่าย เหมาะแก่การทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับดนตรีบำบัด แต่สำหรับนักศึกษาดนตรีบำบัดและนักดนตรีบำบัดนั้นควรศึกษาตัวบทนิยามให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายความและมีการคิดเชิงวิพากษ์ไปด้วย ผู้วิจารณ์ขอแนะนำหนังสือ Defining Music Therapy ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 (Bruscia, 2014) และ Clinical Training Guide for the Student Music Therapist ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (Polen, Shultis, & Wheeler, 2017) เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม

บทที่ 2 ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเดินทาง โดยบอกเล่าตั้งแต่ประสบการณ์ที่หล่อหลอมตัวผู้เขียน แรงบันดาลใจ การศึกษาด้านดนตรีบำบัดในระดับปริญญาโทและเอก สิ่งที่ได้เรียนรู้และเติบโตในช่วงเวลานั้น ตลอดจนความปรารถนาที่ต้องการให้คุณประโยชน์ของดนตรีสามารถเข้าถึงได้โดยทุกคน ในบทนี้ได้มีการกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาศึกษาต่อเป็นนักดนตรีบำบัดด้วยเช่นกัน แต่จะมีการกล่าวถึงอีกครั้งในบทที่ 8

บทที่ 3-5 กล่าวถึงการทำงานภาคปฏิบัติของนักดนตรีบำบัดในกลุ่มประชากรเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกันกับครอบครัว และการทำงานในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ นับว่าเป็นส่วนที่อธิบายการทำงานของนักดนตรีบำบัดไว้อย่างละเอียด มีการกล่าวถึงองค์ความรู้ ทฤษฎี และงานวิจัยที่เป็นพื้นหลังในการปฏิบัติงาน ประเด็นพิจารณาในการบำบัด กระบวนการบำบัด และมีการให้ตัวอย่างกรณีศึกษา ระหว่างที่ผู้อ่านกำลังร่วมเดินทางไปกับการทำงานของผู้เขียนในส่วนนี้ ผู้วิจารณ์แนะนำให้สังเกตกระบวนการคิดของผู้เขียนที่มีความถี่ถ้วน เก็บรายละเอียดและมีการมองอย่างรอบด้าน มีความยืดหยุ่นทางการคิด และความเป็นเหตุเป็นผล อันเป็นตัวอย่างกระบวนการคิดของนักดนตรีบำบัด ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือ บทที่ 4 ซึ่งเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการทำงานกับครอบครัวอันเป็นแนวทางหนึ่งในการทำงานของนักดนตรีบำบัด ผู้เขียนได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการทำดนตรีบำบัดภายใต้บริบทต่าง ๆ เป้าหมายของการนำครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม บทบาทและรูปแบบการทำงานของนักดนตรีบำบัดและผู้ปกครองที่ค่อย ๆ พัฒนาไปในแต่ละช่วงของการบำบัด และประเด็นพิจารณาในการนำครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของผู้ปกครอง และความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำดนตรีบำบัดกับครอบครัวนั้นจัดว่าเป็นพื้นที่ (Field) ที่ใหญ่ในศาสตร์ดนตรีบำบัด มีหลากหลายแนวทาง มุมมองทางทฤษฎี กลุ่มประชากร และเป้าหมายที่อาจจะไม่ได้ครอบคลุมไว้ทั้งหมดโดยผู้เขียน ผู้วิจารณ์ขอแนะนำหนังสือ Music Therapy with Families: Therapeutic Approaches and Theoretical Perspectives (Jacobsen & Thompson, 2017) ที่ได้รวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับการทำดนตรีบำบัดกับครอบครัวในหลากหลายบริบทไว้ด้วยกันเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม

บทที่ 6-7 กล่าวถึงการทำงานภาควิชาการของนักดนตรีบำบัด ได้แก่ การวิจัยและการสอน โดยผู้เขียนได้บรรยายถึงภาพรวมงานวิจัยทางดนตรีบำบัดที่มีอยู่ และเน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญในการวิจัยทางดนตรีบำบัดอันเป็นศาสตร์ใหม่ว่า ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ ชัดเจนโปร่งใส สามารถนำไปขยายผลได้ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างงานวิจัยเชิงคุณภาพอันเป็นดุษฎีนิพนธ์ของตัวผู้เขียนเอง หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำวิจัยทางดนตรีบำบัด ผู้วิจารณ์ขอแนะนำหนังสือ Music Therapy Research ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 (Wheeler & Murphy, 2016) ในส่วนของการสอน ผู้เขียนได้กล่าวถึงหลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรายวิชาดนตรีบำบัดขั้นแนะนำ พร้อมทั้งสะท้อนข้อคิดสำคัญจากประสบการณ์ในการสอนซึ่งควรค่าแก่การนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนดนตรีบำบัด นอกจากการสอนรายวิชาแล้ว ผู้เขียนได้เสนอแนะแนวทางการอบรมและบรรยายด้านดนตรีบำบัดไว้เช่นกัน เพราะการจัดอบรมและการบรรยาย เป็นอีกหน้าที่สำคัญของนักดนตรีบำบัด เพื่อเป็นการแนะนำดนตรีบำบัดแก่สหวิชาชีพและประชาชน นำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

บทที่ 8 (บทส่งท้าย) ได้กล่าวถึงทรรศนะเกี่ยวกับอนาคตของดนตรีบำบัดในประเทศไทย ซึ่งได้มีการเสนอแนะแนวทางการพัฒนาวิชาชีพให้เติบโต ประเด็นพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตรดนตรีบำบัดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์นักดนตรีบำบัดในประเทศไทยที่มีภูมิหลังและแนวทางการทำงานแตกต่างกันถึงประเด็นในการพัฒนาวิชาชีพดนตรีบำบัดในประเทศไทยและแนวทางในอนาคต รวมถึงมีการต่อยอดเนื้อหาเกี่ยวกับคุณสมบัติที่พึงมีของผู้ที่จะมาศึกษาต่อเป็นนักดนตรีบำบัดจากบทที่ 2 ทั้งนี้หากผู้อ่านสนใจศึกษาต่อด้านดนตรีบำบัด ควรอ่านข้อกำหนดเฉพาะของสถาบันนั้น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยขณะนี้ในประเทศไทยมี 2 สถาบันการศึกษาที่ได้เปิดหลักสูตรด้านดนตรีบำบัด ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุดเด่นอันเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ คือ การวางกรอบในการเขียนแบบอัตชีวประวัติที่มีข้อดี คือ ทำให้เหมือนได้ร่วมทางไปกับผู้เขียนและได้รู้จักกับตัวตนของผู้เขียนซึ่งประกอบไปด้วยคุณลักษณะที่พึงมีในนักดนตรีบำบัด แต่ข้อจำกัดของกรอบการเขียนเช่นนี้ คือ ความครอบคลุมของเนื้อหาซึ่งทางผู้เขียนเองก็ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดนี้และระบุไว้ในหนังสือ ผู้วิจารณ์มองว่าข้อจำกัดนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะองค์ความรู้ แนวทางการทำงาน เทคนิค ตลอดจนกลุ่มประชากร ในการทำงานดนตรีบำบัดนั้นมีหลากหลาย และนักดนตรีบำบัดแต่ละคนย่อมมีความเชี่ยวชาญและโอกาสในการทำงานต่างกันออกไป ถึงอย่างไรก็ตามองค์ความรู้และตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือก็เรียกได้ว่าเป็นองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับผู้สูงอายุเองก็นับเป็นกลุ่มประชากรที่นักดนตรีบำบัดจำนวนมากได้ทำงานด้วย (Kern & Tague, 2017) นับได้ว่าเป็นการนำเสนอที่ดีถึงตัวอย่างการทำงานของนักดนตรีบำบัด ในอนาคตอาจมีตำราดนตรีบำบัดที่มีความครบถ้วนทางเนื้อหามากขึ้น ร่วมกันเขียนโดยนักดนตรีบำบัดในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ความถนัดในแนวทางและกลุ่มประชากรที่ต่างกัน แต่อยู่ภายใต้บริบทประเทศไทย รวมถึงหนังสือที่มุ่งเน้นการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ดนตรีเพื่อสุขภาวะสำหรับประชาชน

หากสนใจศึกษาเกี่ยวกับดนตรีบำบัด หนังสือเล่มนี้ควรค่าแก่การศึกษาเป็นเล่มแรก เนื้อหาเหมาะกับผู้ที่สนใจดนตรีบำบัดทุกคน ทั้งผู้ที่ไม่เคยรู้จักดนตรีบำบัดมาก่อน ผู้สนใจศึกษาต่อ สหวิชาชีพ นักศึกษาดนตรีบำบัด ตลอดจนนักดนตรีบำบัดที่มีประสบการณ์ในการทำงาน เพราะหนังสือบรรยายเส้นทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงการทำงานและการพัฒนาตนเองต่อไปของนักดนตรีบำบัดคนหนึ่งได้อย่างละเอียด ที่สำคัญคือการที่เนื้อหาได้วางอยู่ในบริบทของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันตำราและเอกสารทางวิชาการด้านดนตรีบำบัดส่วนมากมาจากต่างประเทศ หนังสือดนตรีบำบัดเล่มนี้จึงมีความสำคัญยิ่งในฐานะทรัพยากรการเรียนรู้สำหรับนักดนตรีบำบัดและนักศึกษาดนตรีบำบัดในประเทศไทย นอกจากเนื้อหาความรู้ที่ปรากฏในหนังสือ ผู้วิจารณ์ขอส่งเสริมให้ผู้อ่านติดตามการเติบโตทางความคิดและชุดความคิดที่เอื้อต่อการเติบโตและพัฒนาตนเองของผู้เขียนซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิด Mindset ของ Dweck (2006) และได้ถูกสะท้อนอยู่ภายในหนังสือ ทั้งยังเป็นคุณลักษณะสำคัญของนักดนตรีบำบัด เพราะการเป็นนักดนตรีบำบัด คือ การเรียนรู้และเติบโตพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งในฐานะนักบำบัดและมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ได้สิ้นสุดเพียงเมื่อเรียนจบหรือเพียงแค่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ

References

บุษกร บิณฑสันต์. (2553). ดนตรีบำบัด. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Bruscia, K. E. (2014). Defining music therapy (3rd ed.). University Park, IL: Barcelona.

Dweck, C. (2006). Mindset. New York, NY: Random House.

Jacobsen, S. L., & Thompson, G. (Eds.). (2017). Music therapy with families: Therapeutic approaches and theoretical perspectives. London, England: Jessica Kingsley.

Kern, P., & Tague, D. B. (2017). Music therapy practice status and trends worldwide: An international survey study. Journal of Music Therapy, 54(3), 255-286.doi: 10.1093/jmt/thx011

Polen, D. W., Shultis, C. L., & Wheeler, B. L. (2017). Clinical training guide for the student music therapist (2nd ed.). Dallas, TX: Barcelona.

Wheeler, B. L., & Murphy, K. M. (Eds.). (2016). Music therapy research (3rd ed.). Dallas,TX: Barcelona.

Downloads

Published

2021-06-25

How to Cite

Pakdeesatitwara, N. (2021). My Music Therapy Journey in Thailand. Fine Arts Journal: Srinakharinwirot University, 25(1), 169–173. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/jfofa/article/view/246688