Protection of Intellectual Property Right : A Case Study of Coffee Art Works

Authors

  • ดารณี ราชภูเขียว Huachiew Chalermprakiet University

Abstract

กาแฟคือเครื่องดื่มที่คนนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศไทยมีกระแสความนิยมดื่มกาแฟสดหรือกาแฟคั่วบดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนร้านกาแฟสดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงร้านกาแฟพรีเมียมทั้งที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงมีการขยายตัวจากผู้ประกอบการรายใหญ่และการเข้ามาของผู้ประกอบการใหม่ ส่งผลให้ตลาดกาแฟมีการแข่งขันกันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงกาแฟคั่วบดได้ง่าย ประกอบกับกระแสความนิยมในเครื่องดื่มดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟมีการพัฒนาทั้งทางด้านเทคนิคการผลิตและทางด้านรูปลักษณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดผู้บริโภค  การเพิ่มความหลากหลายของการชงทำให้เกิดกาแฟชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟลาเต้อาร์ตที่มีจุดเด่นอยู่ตรงความสวยงามของลวดลายศิลปะบนน้ำกาแฟลาเต้ แต่การคุ้มครองการสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายบนกาแฟภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังมีความคุ้มครองที่ไม่ชัดเจนและการคุ้มครองไม่สอดคล้องกับลักษณะการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ    

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาถึงแนวคิด ทฤษฎี และแนวทางความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองการสร้างสรรค์งานศิลปะ รวมถึงศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองการสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายบนกาแฟของไทยและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร เพื่อทราบและวิเคราะห์ปัญหาการให้คุ้มครองการสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายบนกาแฟ นำมาซึ่งการเสนอแนะรูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการคุ้มครองการสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายบนกาแฟในประเทศไทย

จากการศึกษาพบว่า การสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายบนกาแฟดังกล่าวสามารถเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่ไม่ชัดเจนในการพิจารณาให้ได้รับความคุ้มครองตามงานประเภทใด ระหว่างศิลปกรรม ประเภทงานจิตรกรรม งานประติมากรรม หรืองานศิลปประยุกต์ อีกทั้งหากให้การคุ้มครองศิลปะลวดลายบนกาแฟซึ่งเป็นสิ่งที่มีความนิยมแค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งตามกฎหมายลิขสิทธิ์ซึ่งมีระยะเวลาการคุ้มครองที่ถือว่านานเกินไปอาจทำให้ผู้สร้างสรรค์งานออกแบบไม่สามารถพัฒนางานต่อไปได้ ส่วนการออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายบนกาแฟ ไม่มีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ตามความหมายของ “แบบผลิตภัณฑ์” เนื่องจากจากแนวคำพิพากษาของไทยที่มุ่งคุ้มครองแบบที่เป็นวัตถุทางกายภาพเพื่อให้เป็น “แบบ” ในการผลิตในทางอุตสาหกรรม อีกทั้งสิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ต้องเป็นสิ่งซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่เป็นองค์ประกอบของการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ดังนั้น การออกแบบลวดลายบนกาแฟจึงไม่สามารถเป็นผลิตภัณฑ์ได้ และไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามมาตรา 56 พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่อย่างไรก็ตาม หากลวดลายบนกาแฟมีลักษณะเป็น “เครื่องหมาย” และมีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และทำหน้าที่ในการบ่งบอกความแตกต่างให้ผู้บริโภคทราบได้ย่อมสามารถได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าได้อีกด้วย แม้จะมิได้มีการไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก็อาจสามารถฟ้องบุคคลอื่นที่นำเอาศิลปะลวดลายบนกาแฟที่ใช้อย่างเป็นเครื่องหมายการค้าโดยมีการจำหน่ายเผยแพร่ หรือโฆษณาจนแพร่หลายแล้ว ในลักษณะการลวงขายตาม มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้ด้วย

                    ดังนั้น การสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายบนกาแฟสามารถได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยทั้งสองฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการเลือกการให้ความคุ้มครองที่อาจมีลักษณะคาบเกี่ยวหรือซ้ำซ้อนระหว่างกฎหมายทั้งสองฉบับ แม้ประเทศไทยจะมีคำพิพากษาที่มีแนวโน้มยอมรับการให้ความคุ้มครองที่คาบเกี่ยวหรือซ้ำซ้อนกันก็ตาม แต่อาจทำให้เกิดผลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริงของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้ เนื่องจากความมุ่งหมายของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละฉบับกำหนดการคุ้มครองในลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งรูปแบบในการคุ้มครองและระยะเวลาในการคุ้มครอง ซึ่งอาจทำให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลือกอ้างการคุ้มครองตามกฎหมายซึ่งตนได้ประโยชน์มากกว่า จึงควรมีการแก้ไขความหมายของ “งานศิลปประยุกต์” และ “ผลิตภัณฑ์” ให้ชัดเจนและไม่เปิดโอกาสให้ได้รับความคุ้มครองที่มากจนเกินไป หรืออาจตรากฎหมายที่เกี่ยวเนื่องด้วยการออกแบบโดยเฉพาะ (Designs Law) โดยอาจตราเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองงานออกแบบ เพื่อให้การคุ้มครองแบบผลิตภัณฑ์โดยจะคุ้มครองในลักษณะภายนอกทั้งหมดของแบบผลิตภัณฑ์และกำหนดให้มีระยะเวลาการให้คุ้มครองงานออกแบบไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะ เนื่องจากลักษณะงานออกแบบบางงานมักมีระยะเวลาไม่นาน ขึ้นอยู่กับความนิยม ดังนั้นจึงต้องกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองที่จำกัด เพราะหากมีการคุ้มครองที่สูงเกินไปอาจส่งผลให้ผู้สร้างสรรค์งานออกแบบไม่สามารถพัฒนางานให้มีความแตกต่างขึ้น โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์งานและประโยชน์ของสังคมด้วย

Downloads

Published

2019-12-06

How to Cite

ราชภูเขียว ด. (2019). Protection of Intellectual Property Right : A Case Study of Coffee Art Works. Huachiew Chalermprakiet Law Journal, 9(1). Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/lawhcu/article/view/228178

Issue

Section

Research Articles