The death penalty in Thailand versus the principles of the protection of human dignity

Authors

  • พัชรินทร์ วิทยาเอนกนันท์ Huachiew Chalermprakiet University

Abstract

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษา การลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทยกับหลักความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวความคิดการลงโทษประหารชีวิตและหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าแท้จริงแล้วการที่รัฐให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะทำให้แนวความคิดการลงโทษประหารชีวิตที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากน้อยเพียงใด

วิธีการศึกษาใช้การศึกษาทางนิติศาสตร์เน้นการศึกษาจากเอกสาร โดยศึกษาแนวความคิด กฎหมายภายใน กฎหมายระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษประหารชีวิตกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผลการศึกษาพบว่า การลงโทษประหารชีวิต เป็นมาตรการบังคับตามกฎหมายอาญาที่รุนแรงที่สุดโดยเป็นการทำร้ายชีวิตของผู้ต้องโทษไม่ให้มีสิทธิดำรงอยู่อีกต่อไป เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นวัตถุประสงค์หนึ่งในการที่จะคุ้มครองสิทธิของมนุษย์อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีมาโดยธรรมชาติ ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับการลงโทษประหารชีวิตและหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความผูกพันทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน ในส่วนความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 กำหนดมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 กติกาข้อ 6 (2) กำหนดเพียงเงื่อนไขสำหรับประเทศที่ยังมิได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต การลงโทษประหารชีวิตอาจกระทำได้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด  และพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มุ่งหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตกับอาชญากรรมทุกประเภท ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ทำให้การลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของประเทศไทยถึงแม้เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ก็ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้กำหนดข้อห้ามการลงโทษประหารชีวิต  ส่วนความผูกพันตามกฎหมายภายในพบว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้รับการยอมรับและได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและเป็นหลักประกันในสิทธิในชีวิตร่างกายซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังได้จำกัดอำนาจรัฐไว้ในมาตรา 26 ว่าการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ แต่พบว่ากฎหมายอาญา รวมทั้งกฎหมายพิเศษหลายฉบับมีบทบัญญัติลงโทษประหารชีวิต ซึ่งการลงโทษประหารชีวิตถึงแม้จะเป็นมาตรการที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งการลงโทษแต่เป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิตอันเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐยอมรับและได้รับรองคุ้มครองไว้ ดังนั้น บทบัญญัติการลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ

ผู้เขียนเห็นว่า ควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายอาญาและกฎหมายพิเศษเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน และข้อค้นพบที่สำคัญคือ ถึงแม้กฎหมายระหว่างประเทศและจารีตประเพณีระหว่างประเทศก็ไม่ได้ห้ามการลงโทษประหารชีวิต แต่ทิศทางในอนาคตจารีตประเพณีระหว่างประเทศกำลังเป็นที่นิยมลัทธิการล้มเลิกการลงโทษประหารชีวิตมากขึ้น เหตุที่การลงโทษประหารชีวิตไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีสิทธิในชีวิตอันเป็นสิทธิที่มีมาโดยธรรมชาติ การประหารชีวิตเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากับเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงในภายหน้าในการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะถูกดำเนินการภายใต้การยอมรับโดยจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

Downloads

Published

2019-12-07

How to Cite

วิทยาเอนกนันท์ พ. (2019). The death penalty in Thailand versus the principles of the protection of human dignity. Huachiew Chalermprakiet Law Journal, 9(1). Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/lawhcu/article/view/228201

Issue

Section

Research Articles