Unfair Contract Terms in Franchise Business

Authors

  • ฉัฐญา จันทร์แก้ว Huachiew Chalermprakiet University

Abstract

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษากรณีข้อสัญญาไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์                            เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อสัญญาไม่เป็นธรรมดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการนำเสนอพระราชบัญญัติธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อเป็นการกำกับดูแลในข้อสัญญาแฟรนไชส์ภายใต้กฎหมายไทยและเพื่อให้เกิดการบังคับใช้                 ข้อสัญญาให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันโดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่เป็นรูปธรรม

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยมีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วส่งผลให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจขึ้นมากมายเนื่องจากการขาดข้อกฎหมายที่ชัดเจนจึงทำให้การตีความและการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองกับปัญหาที่มีปริมาณมากขึ้นในปัจจุบันได้ เมื่อเกิดปัญหาในข้อสัญญาต่างๆกับแฟรนไชส์ซีและแฟรนไชส์ซอร์จึงต้องนำเอาพระราชบัญญัติข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา แต่การขาดความชัดเจนของหลักกฏหมายทำให้เกิดช่องโหว่ในการอาศัยความไม่ชัดเจนเหล่านี้มาเป็นข้ออ้างในการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบกับคู่สัญญาของตน อีกทั้งแฟรนไชส์ซอร์ยังนิยมให้มีการทำสัญญา สำเร็จรูปกับแฟรนไชส์ซีจึงเป็นการผูกมัดให้แฟรนไชส์ซีต้องยอมทำตามข้อสัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดขึ้นทั้งหมด ถือเป็นการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

จากการศึกษาพบว่า ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาแฟรนไชส์ และข้อสัญญาที่อาจกำหนดภาระหน้าที่แก่แฟรนไชส์เกินสมควร มูลเหตุในการเกิดข้อสัญญาไม่เป็นธรรมในสัญญาแฟรนไชส์ และข้อสัญญาที่อาจกำหนดภาระหน้าที่แก่แฟรนไชส์ซีเกินสมควรอาจเกิดจากอำนาจต่อรองในการเจรจาของคู่สัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์มักจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าแฟรนไชส์ซี หรือการขาดความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ข้อสัญญาในลักษณะนี้มีด้วยกันหลายประการ เช่น การห้ามทำธุรกิจแข่งขัน การผูกขาดการติดต่อ ข้อตกลงพ่วงขาย การจำกัดพื้นที่และกลุ่มลูกค้า รวมไปถึงการกำหนดราคาขายสินค้าด้วย

เมื่อประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นจึงทำได้โดยนำกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหามาใช้บังคับแก่กรณี อย่างไรก็ดี กฎหมายที่นำมาปรับใช้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทุกกรณีเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวย่อมมีข้อจำกัดในตัวของกฎหมายนั้นเอง นอกจากนี้ยังขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและลงโทษต่อการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์อีกด้วย

Downloads

Published

2019-12-07

How to Cite

จันทร์แก้ว ฉ. (2019). Unfair Contract Terms in Franchise Business. Huachiew Chalermprakiet Law Journal, 9(2). Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/lawhcu/article/view/228205

Issue

Section

Research Articles