การศึกษาความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

กาญจนา สมมิตร

Abstract

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ และการจัดทำแผนธุรกิจตลาดเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่

            การศึกษานี้เป็นการศึกษาการเช่าพื้นที่ 200 ตารางวา ซึ่งอยู่ในโครงการ เจเจ มาร์เก็ตในนามบริษัท ป่าตัน 2 จำกัด สาขาเชียงใหม่ในเครือเซ็นทรัลพัฒนา บ้านเลขที่ 46 ถนนอัษฎาธร ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์ผู้นำองค์กร สถาบันชุมชนเกษตกรรมยั่งยืนและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบโครงการตลาดเกษตรอินทรีย์ จำนวน 4 คน และจากการเข้าร่วมการประชุมในโครงการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์กับสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ส่วนการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามการสำรวจพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ จำนวน 153 คน ที่ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเช้าวันเสาร์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ความเป็นไปได้เบื้องต้นของธุรกิจ ทางด้านการตลาด การให้บริการ การจัดซื้อ การจัดการ และการเงินโดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาแผนธุรกิจ ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง กันยายน 2549

            การวิเคราะห์ความเป็นไปได้เบื้องต้นของธุรกิจพบว่า มีปัจจัยด้านบวกเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นด้านความต้องการของลูกค้าที่มีอัตราการเจริญเติมโตขึ้นทุกปี ด้านสถาบันและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องล้วนให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน นอกจากนั้นยังพบว่ายังไม่มีคู่แข่งขันทางตรงในตลาดเลยถึงแม้จะมีคู่แข่งขันทางอ้อม แต่ก็ไม่มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง จะเป็นในลักษณะความร่วมมือและเครือข่ายทางการค้ามากกว่า เนื่องจากสินค้าดังกล่าวยังมีจำนวนจำกัด

            การศึกษาด้านการตลาดพบว่าด้วยกระแสการห่วงใยสุขภาพและมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ บวกกับนโยบายของรัฐบาล การมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคตลอดจนการสร้างความตระหนักและความเข้มแข็งของตราผลิตภัณฑ์จะเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยเรียกความสนใจจากลูกค้าได้อย่างดี

            แผนการดำเนินงานมุ่งสร้างบริการสมบูรณ์แบบให้ลูกค้าเป้าหมาย ใช้เงินลงทุนค่อนข้างน้อยเนื่องจากใช้วิธีการเช่าที่ดินและอาคารระยะสั้น ส่วนการจัดซื้อสินค้า มีการจัดการจัดซื้ออย่างเป็นระบบ

            โครงการมีการบริหารจัดการโดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้ถือหุ้น โดยที่มาของแหล่งเงินทุนได้จากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และงบการดำเนินงานใช้ระบบการลงหุ้น มี Pay back period อยู่ที่ 1 ปี 2 เดือน 20 วัน และคาดการณ์ว่ามีความคล่องตัวของกระแสเงินสดสูง ซึ่งจากการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพและปริมาณพบว่า โครงการมีความเป็นไปได้และมีความคุ้มค่าในการลงทุน

Article Details

Section
Research Articles