“ทุน” กับการสร้างเครือข่ายทางสังคมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ภายใต้การเปลี่ยนผ่านนโยบายในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดนครพนม
Abstract
บทคัดย่อ
บทความนี้ศึกษาการสร้างเครือข่ายทางสังคมของคนไทยเชื้อสายเวียดนามผ่านการใช้ทุน ภายใต้การเปลี่ยนผ่านของนโยบายในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดนครพนม ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสัมภาษณ์กลุ่มกับผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้รู้ในชุมชน คนไทยเชื้อสายเวียดนาม คนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน ผลการศึกษาพบว่า นครพนมเป็นพื้นที่ชายแดนที่รัฐให้ความสำคัญแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการสะสมและเปลี่ยนผ่านทุนต่างๆ ภายใต้นโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งมีความสัมพันธ์กับการสร้างเครือข่ายทางสังคมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ตั้งแต่ระยะแรก ที่คนเวียดนามอพยพเข้ามาในฐานะชนกลุ่มน้อยที่รัฐมองว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างทุนทางสังคมผ่านทุนทางวัฒนธรรมในระบบเครือญาติหรือชาติพันธุ์เดียวกัน ระยะที่สอง คนเวียดนามได้รับการยอมรับมากขึ้นจากนโยบายรัฐชาติ เอื้อต่อการก่อร่างสร้างตัว ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมผ่านทุนเศรษฐกิจและทุนสังคม ซึ่งทุนดังกล่าวถูกสะสมมาเพื่อใช้ในระยะที่สาม ที่คนเวียดนามได้รับสัญชาติให้เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม และมีบทบาทสำคัญต่อการค้าในพื้นที่ชายแดน จนกระทั่งระยะที่สี่ คนไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นนายทุนยุคใหม่ และสร้างเครือข่ายทางสังคมผ่านการขยายธุรกิจและการแสดงออกทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์เวียดนามผ่านการใช้ทุนวัฒนธรรม จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครพนม โดยสร้างทุนสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น อนุสรณ์สถานประธานาธิบดีโฮจิมินห์ หมู่บ้านคนไทยเชื้อสายเวียดนาม อาหารเวียดนาม ฯลฯ ซึ่งพลวัตการผันเปลี่ยนของทุนเหล่านี้นำไปสู่การมีบทบาททางสังคมของคนไทยเชื้อสายเวียดนามในฐานะคนเวียดนาม-นครพนม ที่สร้างการมีตัวตนเพื่อให้เกิดการยอมรับจากรัฐไทยและผู้คนในวงกว้างต่อไป
คำสำคัญ: ทุน เครือข่ายทางสังคม คนไทยเชื้อสายเวียดนาม
Abstract
This article investigates the capital-based social network construction of Vietnamese-Thai through the capitals under the policy transition in the Thai-Laos border area, Nakhon Phanom Province. The article employed qualitative methodology together with in-depth interview and group interview to collect data from key informants who included community seniors, Vietnamese-Thai people, Thai people, and Chinese-Thai people. Research results found that Nakorn Phanom is a border space that Thai State focused on for decades, and the province was recognized as an area where was full of chance in capital accumulation and utilization under the state policy which related to social network construction among the Vietnamese-Thai. In first period, the Vietnamese evacuated to Nakhon Phanom as the minority, which was closely observed by Thai State due to national security reason. They negotiated with circumstance by creating the social capital through kinship system. The second period, when the restriction of Thai national security policy was declined, the Vietnamese were able to start their own business. They expanded their social network through financial capital and social capital. In the third period, these capitals were accumulated for years until the Vietnamese were permitted for Thai nationality by Thai State. The Vietnamese-Thai became big-scale entrepreneurs who influenced in border economy. In the fourth period, the Vietnamese-Thai became powerful entrepreneurs, and they construct social network through business expansion and ethnic identity performance, which considered as cultural capital, until it became identity of Nakhon Phanom. Symbolic capital was constructed, for instance, Ho Chi Minh monument, the Vietnamese-Thai village, or Vietnamese foods. Dynamic of capital transition contributed the Vietnamese-Thai having more social space. They presently were recognized as the Vietnamese - Nakhon Phanom who finally received a respect from Thai State and Thai people.
Keywords: Capitals, Social Network, the Vietnamese-Thai