การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม: กลไกในขับเคลื่อนแนวคิดสู่การปฏิบัติภายใต้กระบวนทัศน์การพัฒนา แบบทางเลือก
Keywords:
การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม, กระบวนทัศน์การพัฒนาแบบทางเลือก, การบริหารจัดการการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมAbstract
บทคัดย่อ
กระบวนทัศน์การพัฒนาแบบทางเลือกเป็นกระบวนทัศน์ที่เน้นความเป็นมนุษย์ และความหลากหลาย โดยเชื่อว่าแต่ละสังคม ต่างก็มีอัตลักษณ์และมีเส้นทางในการพัฒนาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่องานพัฒนาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามแนวคิดการพัฒนาแบบทางเลือกนี้มีลักษณะที่เป็นนามธรรมค่อนข้างมากจึงอาจยากต่อการนำไปปฏิบัติ แต่ในฐานะนักสื่อสารที่เชื่อมั่นในศักยภาพของการสื่อสารที่มีต่อกระบวนการพัฒนา จึงมั่นใจว่า “การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม” จะสามารถเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาแบบทางเลือกให้สามารถปฏิบัติได้จริง
อย่างไรก็ตาม “การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม” นี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อเป็นการเสริมพลังให้สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติงาน และขั้นการตรวจสอบและประเมินผล ดังนี้
ขั้นวางแผน นักพัฒนาจะต้องมองให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการที่จะดำเนินงานพัฒนาร่วมกับตน แทนที่จะมองเห็นแต่ด้านอ่อนด้อยของชุมชน รวมทั้งการใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การระบุปัญหา การค้นหาวิธีแก้ไข และการดำเนินการแก้ไข โดยนักพัฒนาอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนกระบวนการดังกล่าว
ขั้นปฏิบัติงาน ในขั้นตอนนี้ จำเป็นต้องนำการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมเข้ามาใช้ ทั้งในด้านการใช้การสื่อสารเพื่อชักนำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานพัฒนา เช่น การใช้หอกระจายข่าวสารเป็นช่องทางเสริมสร้างความเข้าใจแก่ชุมชน อันนำมาสู่การมีส่วนร่วมในงานพัฒนา รวมถึงการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อสารเพื่อให้ชุมชนเกิดการพัฒนา เช่น การให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดรายการหอกระจายข่าว อันนำมาสู่การเสริมสร้างพลังชุมชนในที่สุด
ขั้นการตรวจสอบและการประเมินผล จำเป็นต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและประเมินผลจากสายตาของคนในชุมชนร่วมกับนักพัฒนา การตรวจสอบและประเมินผลดังกล่าวจะทำให้ทั้งชุมชนและนักพัฒนาได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว อันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการทำงานด้านพัฒนาด้วยตนเองในที่สุด
นอกจากนั้นในการดำเนินงานทั้ง 3 ขั้นตอนนี้จำเป็นที่จะต้องใช้การสื่อสารแบบพิธีกรรม (Ritualistic Communication) เพราะเป็นการสื่อสารที่สามารถสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่มีใครผูกขาดบทบาทการเป็นผู้ส่งสารหรือรับสารอย่างตายตัว แสดงให้เห็นถึงบทบาทและอำนาจในการดำเนินงานพัฒนาที่ผู้เข้าร่วมมีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบทางเลือกที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย