ท้องถิ่นภาคกลางท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง: บทสังเคราะห์จากโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพื้นที่ภาคกลาง

Authors

  • ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์

Keywords:

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, ภาคกลาง, เรื่องเล่าจากท้องถิ่น, ความทรงจำ, การสังเคราะห์

Abstract

บทคัดย่อ

 

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แนวใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มุ่งศึกษาวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยมีชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้เห็นบริบทของชุมชน ผู้คน บทบาทของท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในระยะหลังได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนได้เป็นผู้ศึกษาเรื่องราว ความเป็นมา และความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของถิ่นที่อยู่และเกิดสำนึกรักท้องถิ่นของตนเอง อันจะนำไปสู่พลังในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงในระยะยาวต่อไป บทความนี้ได้นำเสนอบทสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภาคกลาง จากงานเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของยุววิจัยในโครงการ ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 11 เรื่อง โดยมีคำถามหลักในการสังเคราะห์ดังนี้ 1) จากมุมมองของเด็กผ่านการบอกเล่าความทรงจำของผู้ใหญ่ได้สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงด้านฐานทรัพยากรและความเป็นท้องถิ่นของภาคกลางในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา อย่างไร และ 2) ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความคิดและความเป็นไปของคนในท้องถิ่นอย่างไร

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของยุววิจัยผ่านความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่นั้น ทำให้เห็นว่าพื้นที่ภาคกลางในช่วงเกือบศตวรรษที่ผ่านมาอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนในท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ และมีวิถีชีวิตในเชิงเกื้อกูล เอาแรง และแบ่งปัน การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากนโยบายการพัฒนาประเทศ พื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างทางกายภาพ วิถีการผลิต และการดำเนินชีวิตของคนภาคกลาง เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับภาพอดีตที่ล้วนแต่เป็นภาพความทรงจำที่ดีงามดูเหมือนความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตอันสุขสงบของคนภาคกลางกำลังจะหดหายไป อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามมุมมองคนในท้องถิ่นก็มีทั้งแง่บวกและลบ คนภาคกลางไม่ได้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสียทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ได้พยายามปรับโต้สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อหาจุดสมดุลในการดำเนินชีวิต ซึ่งผลของการสังเคราะห์ครั้งนี้อาจเป็นประโยชน์ในฐานะที่เป็นหลักฐานชั้นต้นสำหรับการศึกษาต่อยอดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในเชิงลึกต่อไป

Downloads

How to Cite

ศศิวงศาโรจน์ ข. (2015). ท้องถิ่นภาคกลางท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง: บทสังเคราะห์จากโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพื้นที่ภาคกลาง. Journal of Humanities and Social Sciences (HUSOKKU), 30(2), 107–132. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/32238

Issue

Section

บทความวิชาการ