แนวทางการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product : OTOP) เพื่อการส่งออกในตลาดอาเซียน
Keywords:
การพัฒนาสินค้า, OTOP, โอทอป, หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์Abstract
บทคัดย่อ
บทความวิชาการฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายของภาครัฐ รวมทั้งวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค จุดแข็งและจุดอ่อนของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกำหนดประเด็นที่สำคัญ ๆ ต่อการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกในตลาดอาเซียน
ด้านภาครัฐ พบว่า ภาครัฐได้มีการกำหนดนโยบายให้หน่วยงาน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการคลัง เป็นผู้ผลักดันสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สู่ตลาดอาเซียน ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้มีการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เน้นในเรื่องของการพัฒนาสินค้าและเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบภาครัฐ ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคของประชาชนในกลุ่มอาเซียน พบว่า ผู้บริโภคในกลุ่มอาเซียนมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศบรูไน สิงคโปร์ ต้องการสินค้าที่มีชื่อเสียง มีคุณภาพดี ราคาสูง แต่มีบางประเทศ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ต้องการสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ราคาถูก คุณภาพดี เมื่อนำข้อมูลด้านภาครัฐ และด้านพฤติกรรมผู้บริโภค มาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ทำให้ได้แนวทางในการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือ ผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จะต้องพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพดี ราคาสูง ผู้ประกอบการจะต้องทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ของสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม แต่สำหรับประเทศที่มีกำลังซื้อน้อย ผู้ประกอบการจะต้องแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความคุ้มค่า และเน้นประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้านั้น เป็นต้น นอกจากนี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเน้นให้ผู้ประกอบสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ทำการจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร เพื่อป้องกันการทำซ้ำและการลอกเลียนแบบ เนื่องจากสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์บางประเภทเป็นสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชน