พฤติกรรมและรูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่น
Keywords:
พฤติกรรมการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต, รูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ต, นักเรียนมัธยมศึกษาAbstract
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต รูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ต รวมทั้งเปรียบเทียบรูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) กลุ่มตัวอย่างในการศึกษามีจำนวน 379 ราย เป็นนักเรียนมัธยมศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งได้ทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือ ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.83
ผลการวิจัยพบว่า
1. พฤติกรรมการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่น จำแนกออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านการเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ต พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่นส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านมากที่สุด (ร้อยละ 73) ด้านความถี่ในการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต พบว่าส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน (ร้อยละ 70) ด้านระยะเวลาในการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต นักเรียนมัธยมศึกษาใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ต 3-4 ชั่วโมง/วันมากที่สุด (ร้อยละ 38) ด้านเว็บไซต์ที่ใช้งานบนสื่ออินเทอร์เน็ต เว็บไซต์เพื่อการสื่อสารที่ได้รับความนิยมจากนักเรียนมัธยมศึกษามากที่สุด คือ Facebook (ร้อยละ 24) เว็บไซต์เพื่อความบันเทิงที่ได้รับความนิยมจากนักเรียนมัธยมศึกษามากที่สุด คือ YouTube (ร้อยละ 28) และเว็บไซต์เพื่อการค้นคว้าข้อมูลที่ได้รับความนิยมจากนักเรียนมัธยมศึกษามากที่สุด คือ Google (ร้อยละ 57.33)
- 2. รูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่นจำแนกออกเป็น 3 รูปแบบ ด้วยกันคือ การใช้บริการด้านการสื่อสาร พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่นใช้ Facebook เพื่อการสื่อสารในระดับมาก ( =4.15) การใช้บริการด้านความบันเทิง พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่นใช้ YouTube เพื่อความบันเทิงในระดับมาก ( =4.44) และการใช้บริการด้านการค้นคว้าข้อมูล พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่นใช้ Google เพื่อการค้นคว้าข้อมูลในระดับมากที่สุด ( =4.67)
3. การเปรียบเทียบรูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศแตกต่างกันมีรูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 และกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันมีรูปแบบการใช้บริการบนสื่ออินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ด้วยเช่นกัน