การใช้คำเรียกขานในภาษาการเมือง กฎหมาย ภาษาสื่อและภาษาวิชาการของไทย
Keywords:
ภาษาการเมือง, ภาษาสื่อ, ภาษาวิชาการไทยAbstract
บทคัดย่อ
คำเรียกขาน(address terms) สามารถแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่ทางสังคมที่อาจแตกต่างกันในแต่ละทำเนียบภาษา งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์รูปแบบและประเภทย่อยของคำเรียกขานในทำเนียบภาษาการเมือง ภาษากฎหมาย ภาษาสื่อ และภาษาวิชาการ 2) วิเคราะห์ความถี่ของรูปแบบคำเรียกชาน และ 3) เปรียบเทียบรูปแบบและความถี่ของการใช้คำเรียกขานใน 4 ทำเนียบภาษาทั้ง 4 ประเภท
ข้อมูลการวิจัยนี้รวบรวมคำศัพท์จากทำเนียบภาษา ภาษาละ 10,000 คำ นำมาวิเคราะห์เพื่อหารูปแบบคำเรียกขานและนับความถี่ของแต่ละประเภทย่อย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) รูปแบบของคำเรียกขานที่ปรากฏเด่นชัดมี 2 รูปแบบได้แก่ คำเรียกญาติ (เช่น ‘พ่อแม่พี่น้อง’ ) และคำนำหน้าเพื่อแสดง ยศ อาชีพ ตำแหน่ง สถานะ เช่น (‘ท่านนายก’) 2) ผลการนับความถี่พบว่า ภาษาการเมืองมีการใช้คำเรียกญาติมากที่สุด รองลงมาคือภาษาสื่อ ส่วนภาษากฎหมายและภาษาวิชาการไม่ปรากฏการใช้รูปแบบดังกล่าว ส่วน คำนำหน้าเพื่อแสดง ยศ อาชีพ ตำแหน่ง สถานะ พบว่าทั้ง 4 ทำเนียบภาษามีลักษณะรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ภาษาการเมืองมีรูปแบบการใช้หลายลักษณะมากที่สุด
ผลการวิจัยนี้พบประเด็นหน้าที่ทางสังคมที่สะท้อนจากการใช้คำเรียกญาติและคำนำหน้าเพื่อแสดงยศ อาชีพ ตำแหน่ง สถานะ คือ การแสดงถึงความใกล้ชิด การให้เกียรติยกย่อง และการแสดงความสุภาพนุ่มนวล