บทบาทของครอบครัวในการปลูกฝังจริยธรรมแก่เยาวชนในภาคอีสาน

Authors

  • เทพพร มังธานี

Keywords:

การปลูกฝังจริยธรรม, บทบาทเชิงจริยะ, บทบาทของครอบครัว

Abstract

บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative  Research )  โดยอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณประกอบ  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของสถาบันครอบครัวของภาคอีสานในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนและเพื่อศึกษาคุณธรรมที่เยาวชนได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว  ตลอดจนศึกษาบทบาทที่เหมาะสมของครอบครัวอีสานในการปลูกฝังจริยธรรมแก่เยาวชนในปัจจุบัน    เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา  คือ  แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์  กลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็น  2  กลุ่ม  คือ  1)  พ่อแม่ผู้ปกครอง 2)  เยาวชน ขอบเขตในการวิจัย ได้แก่ ครอบครัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  โดยพิจารณาจากพ่อแม่ผู้ปกครองและเยาวชนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนเป็นกลุ่มตัวอย่างหลัก   การวิเคราะห์เนื้อหา(Content  Analysis) ใช้ทฤษฎีสำคัญทางจริยศาสตร์เป็นแนวทางการวิเคราะห์    การวิเคราะห์ในเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา  (Descriptive  statisties)  ประกอบด้วยค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย   

ผลการวิจัยพบว่า  ครอบครัวอีสานให้ความสำคัญกับบทบาทที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมโดยมีระดับการปฏิบัติอยู่ที่ปานกลางถึงบ่อยครั้ง  เมื่อเปรียบเทียบระหว่างครอบครัวเดี่ยวกับครอบครัวขยาย พบว่า  มีบทบาทบางด้านที่ครอบครัวเดี่ยวมีระดับปฏิบัติบ่อยครั้งมีค่าเฉลี่ยมากกว่าครอบครัวขยายชัดเจน  คือ   บทบาทด้านเปิดโอกาสให้เยาวชนคิดวิจารณ์  และตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง  ๆ  ในชีวิตโดยเสรี  ขณะเดียวกันก็พบว่ามีบทบาทบางด้านที่ครอบครัวขยายมีระดับปฏิบัติบ่อยครั้งมีค่าเฉลี่ยมากกว่าครอบครัวเดี่ยวชัดเจน  คือ  บทบาทด้านการถ่ายทอดความรู้ด้านศาสนา และคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีให้เยาวชนได้เรียนรู้  และการมีเวลาในการสนทนาวิสาสะเรื่องราวต่าง  ๆ  ในชีวิตประจำวันกับเยาวชน   ส่วนบทบาทด้านอื่น  ๆ  พบว่าครอบครัวเดี่ยวกับครอบครัวขยายมีระดับปฏิบัติต่างกันเล็กน้อย    ส่วนบุคคลในครอบครัวที่มีบทบาทในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชน พบว่า  ทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีบทบาทมากกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ  แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าแม่จะมีบทบาทมากกว่าพ่อเล็กน้อย

ในประเด็นเรื่องคุณธรรมที่เยาวชนได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว  พบว่า คุณธรรมที่ได้รับการปลูกฝังมากใน 5  ข้อแรก  ได้แก่  การแสดงความเคารพ  ความขยันหมั่นเพียร  การประหยัดอดออม   ความอดทน  และความเมตตากรุณา  ส่วนคุณธรรมที่ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวน้อย    ได้แก่  ความรับผิดชอบ  ความอ่อนน้อมถ่อมตน     ความมีระเบียบวินัย  ความซื่อสัตย์     และการเสียสละ  ตามลำดับ

ในส่วนของบทบาทการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่สอดคล้องกับทฤษฎีสำคัญทางจริยศาสตร์พบว่าครอบครัวอีสานส่วนใหญ่มีระดับการปฏิบัติสอดคล้องกับทฤษฎีสัมพัทธนิยมทางจริยศาสตร์  (Ethical  Relativism)  มากกว่าทฤษฎีอื่น  เนื่องจากผู้ให้สัมภาษณ์ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางวัฒนธรรม( Cultural  Values) ที่หลากหลาย   จากการอภิปรายในประเด็นนี้ได้ข้อสรุปว่า  วัฒนธรรมประเพณีอีสานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเป้าหมายทางจริยธรรม  การที่ครอบครัวใช้วัฒนธรรมประเพณีเป็นฐานในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเป็นการพัฒนารูปแบบที่เหมาะทางวัฒนธรรมประเพณีไปในตัว  และทำให้วัฒนธรรมประเพณีไม่เป็นเพียงมารยาททางสังคมเท่านั้นหากแต่มีความหมายทางจริยธรรมด้วย  ถึงแม้ครอบครัวในส่วนต่าง  ๆ ของภาคอีสานจะมีวัฒนธรรมประเพณีย่อยเป็นของตัวเอง   ทำให้สิ่งที่เป็นข้อปฏิบัติทางจริยธรรมขึ้นอยู่กับสิ่งที่แต่ละกลุ่มยึดถือซึ่งอาจแตกต่างกัน  แต่สิ่งที่เป็นคุณค่าทางจริยธรรมซึ่งอยู่เบื้องหลังข้อปฏิบัติทางจริยธรรมไม่แตกต่างกัน 

การวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะบทบาทเชิงจริยะ(Ethical  Role)  6  ข้อ     เพื่อให้ครอบครัวอีสานใช้เป็นแนวทางในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เยาวชนในปัจจุบัน   ได้แก่     1)  การพัฒนาวิธีสนทนาวิสาสะเรื่องราวต่าง  ๆ   กับเยาวชน  ให้เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเยาวชนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาจริยธรรมในชีวิตประจำวัน  2)  หลีกเลี่ยงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมโดยวิธีอบรมสั่งสอนโดยตรง  เพราะทำให้เยาวชนมีแนวโน้มปฏิเสธมากกว่าจะเกิดสำนึกทางจริยธรรม 3)  การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทางคุณธรรมจริยธรรม 4)  ส่งเสริมให้เยาวชนการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น  5)สร้างข้อแนะนำทางจริยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของครอบครัวอีสาน และ  6)  การยอมรับสิทธิทางจริยธรรมของเยาวชนซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

Downloads

How to Cite

มังธานี เ. (2015). บทบาทของครอบครัวในการปลูกฝังจริยธรรมแก่เยาวชนในภาคอีสาน. Journal of Humanities and Social Sciences (HUSOKKU), 31(1), 45–64. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/32268

Issue

Section

บทความวิชาการ