ทัศนคติของพนักงานต่อโรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (น้ำพอง)
Keywords:
ทัศนคติต่อโรงงาน, พนักงานโรงงาน, การทำงานเป็นทีม, บริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)Abstract
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของพนักงานต่อโรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (น้ำพอง) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม ประชากรของวิจัยเชิงปริมาณ คือ พนักงานที่เข้าร่วมโครงการสัมมนาการทำงานเป็นทีม (Team Building) ประจำปี 2556 จำนวน 481 คน และพนักงานที่ไม่ได้เข้าร่วมการสัมมนาฯ จำนวน 452 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม ในการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์แบบกลุ่มกับพนักงานที่มีประสบการณ์การทำงานในโรงงานมากกว่า 5 ปี จากแผนกงานต่างๆ ทั้งที่เป็นหัวหน้างานและพนักงานปฏิบัติการ จำนวน 45 คน ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติพรรณนาและสถิติ t-test
ผลการศึกษา พบว่า พนักงานที่เข้าร่วมโครงการสัมมนาการทำงานเป็นทีมมีอายุเฉลี่ย 38.45 ปี ซึ่งน้อยกว่าพนักงานที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ มีอายุเฉลี่ย 41.63 ปี พนักงานทั้ง 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นชาย สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญามากที่สุด พนักงานที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ มีสัดส่วนเป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่อำเภอน้ำพอง และอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สูงกว่าพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ยังพบว่า กว่าร้อยละ 40.0 ของพนักงานทั้ง 2 กลุ่ม เคยย้ายถิ่นไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคกลาง โดยกว่าครึ่งเคยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเหตุผลที่ออกจากงานเดิมและเข้ามาทำงานกับโรงงานฯ ได้รับผลตอบแทนจากการทำงานโรงงาน ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ สูงกว่า อย่างไรก็ตามพนักงานทั้ง 2 กลุ่ม เกือบร้อยละ 70.0 สมัครงานที่โรงงานด้วยตนเอง
สำหรับทัศนคติของพนักงานทั้ง 2 กลุ่มต่อโรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (น้ำพอง) ในภาพรวมเป็นเชิงบวกมากที่สุด โดยพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ มีทัศนคติด้านบวก และค่อนข้างบวก คิดเป็นร้อยละ 65.9 และ 33.3 ตามลำดับ อนึ่งพนักงานทั้ง 2 กลุ่ม มีค่าเฉลี่ยทัศนคติของพนักงานโรงงาน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ มีทัศนคติต่อโรงงานในเชิงบวก มากกว่าพนักงานที่ไม่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนแนวทางการพัฒนาโรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (น้ำพอง) ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนในทัศนะของพนักงาน ประกอบด้วยองค์ประกอบ 6 มิติ ได้แก่ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ การพัฒนาความรู้ความสามารถอยู่เสมอ พัฒนาตนเอง พัฒนาสัมพันธภาพระหว่างหัวหน้ากับพนักงาน และพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างโรงงานกับชุมชน