วัฒนธรรมทางการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยในเขตชนบทอีสาน : กรณีศึกษาประชาชนในเขตหมู่บ้านคำบง และหมู่บ้านสะอาด ตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
Keywords:
วัฒนธรรมทางการเมือง, วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย วัฒนธรรมแบบพลเมือง, ประชาธิปไตย, ความเป็นพลเมืองAbstract
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดทางสังคมวิทยาการเมืองที่ว่า ระบอบการเมืองการปกครองแบบใดแบบหนึ่งจะดำรงอยู่ได้ จะต้องอาศัยวัฒนธรรมทางการเมืองที่เอื้ออำนวยต่อระบอบการเมืองการปกครองแบบนั้น หากจะพัฒนาระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย จะต้องมีการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยควบคู่กันไปด้วย เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองย่อมมีผลต่อโครงสร้างและพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนในประเทศนั้น วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนทั้งในส่วนที่เอื้อและไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และเพื่อหาข้อเสนอแนะในการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพทำการศึกษาทั้งจากเอกสารและเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิในหมู่บ้านเป้าหมาย ผลการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยคือวัฒนธรรมแบบพลเมือง วัฒนธรรมแบบพลเมืองที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมี 6 ประการสำคัญคือ สำนึกแห่งการมีส่วนร่วมทางการเมือง สำนึกแห่งการรักษากฎหมายและเคารพกฎกติกาของสังคมอย่างเคร่งครัด การมีจิตสาธารณะ การยึดหลักสันติวิธีและการประนีประนอม การรู้จักใช้สิทธิของตนเองและรู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่น และการมองโลกในแง่ดี ส่วนวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยคือ การไม่สนใจมีส่วนร่วมทางการเมือง ขาดสำนึกแห่งการรักษากฎหมายและการเคารพกฎกติกาของสังคม ความคิดเรื่องจิตสาธารณะที่คับแคบ หลักสันติวิธีและการประนีประนอมยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติ และความเข้าใจเรื่องการใช้สิทธิของตนเองและการเคารพสิทธิของผู้อื่นยังมีน้อย งานวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมแบบพลเมืองให้เกิดขึ้นในระดับชุมชนหมู่บ้านทั้ง 5 ด้าน คือ การสร้างสำนึกแห่งการมีส่วนร่วมทางการเมือง การสร้างสำนึกแห่งการรักษากฎหมายและเคารพกฎกติกาของสังคม การมีจิตสาธารณะ การยึดหลักสันติวิธีและการประนีประนอม การรู้จักใช้สิทธิของตนและรู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น