บทบาทด้านการแปลของมิสชันนารีฝรั่งเศสสมัยสยามปฏิรูป (พ.ศ. 2411-2453)

Authors

  • กันตพงศ์ จิตต์กล้า

Keywords:

มิสชันนารีฝรั่งเศส, การแปล, ภาษาฝรั่งเศส, พจนานุกรม

Abstract

บทคัดย่อ

          เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่มิสชันนารีฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส [Missions Étrangères de Paris] ได้เข้ามาลงหลักปักฐานอย่างเข้มแข็งพร้อมกับการพัฒนาวิชาการในยุคของพระสังฆราช ฌอง-หลุยส์ เวย์[Mgr. Jean-Louis Vey] ผู้สถาปนาระบบการศึกษาตะวันตกในสยามและจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ ในช่วงเดียวกับกับที่สยามปฏิรูปประเทศ  อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคม [Siam Society]  เมื่อสยามปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีผลจากการเปิดรับชาติตะวันตก การติดต่อสื่อสารย่อมต้องอาศัยนักแปลและล่าม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจรจาต่อรอง การลงนามในสนธิสัญญา ที่ต้องกระทำถึง 3 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส  การจะแปลถ้อยคำหรือข้อความได้ดีนั้น ผู้แปลจะต้องมีความรู้ในภาษาต้นทางและภาษาปลายทางเป็นอย่างดี สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือต้องมีพจนานุกรมซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างดีเพื่อช่วยในการแปล  มิเช่นนั้นการดำเนินการด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้าต่างๆคงจะเกิดขึ้นมิได้  จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาว่าคณะมิสชันนารีฝรั่งเศส ผู้อยู่ร่วมยุคร่วมสมัยนั้นได้เข้ามามีบทบาทหรือไม่อย่างไร

          การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ข้อมูลจากเอกสารปฐมภูมิในหอจดหมายเหตุสำนักมิสซังแห่งกรุงปารีส  หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ห้องสมุดแซงต์เฌอเนอวิแยฟว์  จากการศึกษาพบว่าในสมัยสยามปฏิรูปคณะมิสชัน- นารีฝรั่งเศสมีบทบาทด้านการแปล 3 ลักษณะ คือ บทบาทในการจัดทำพจนานุกรม บทบาทในการแปลวรรณกรรม และบทบาทในการจัดการศึกษาวิชาการแปล  ซึ่งบทบาทดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสและเป็นเชื่อมความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทยไม่ให้ยุติลง

          ยุคสยามปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสมีเรื่องบาดหมางใจกับรัฐบาลสยาม หรือมิสชันนารีบางคนทำให้สยามหวาดระแวง แต่ผู้นำศาสนจักรกลับได้สร้างคุณูปการไว้ให้กับแผ่นดินทั้งในด้านภาษาและการศึกษา  หากขาดบุคคลดังกล่าวการทำงานแปลและล่ามตลอดจนการศึกษาที่ทันสมัยสำหรับประชาชนอาจเกิดขึ้นไม่ทันกับการพัฒนาประเทศ  

Downloads

How to Cite

จิตต์กล้า ก. (2015). บทบาทด้านการแปลของมิสชันนารีฝรั่งเศสสมัยสยามปฏิรูป (พ.ศ. 2411-2453). Journal of Humanities and Social Sciences (HUSOKKU), 31(3), 193–214. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/32295

Issue

Section

บทความวิชาการ