การศึกษาและพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมสุขภาวะระดับตำบล กรณีศึกษาตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม

Authors

  • วินัย วงศ์อาสา อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

Abstract

บทคัดย่อ

ประชาคมสุขภาวะระดับตำบล เป็นขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม มีการรวมพลังของหลายภาคส่วนทั้งระดับปัจเจกบุคคล หรือกลุ่ม องค์กรชุมชนในลักษณะเครือข่ายระดับตำบล เพื่อลดหรือแก้ไขปัญหาทุกขภาวะ 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญาและสังคม

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาลักษณะ และองค์ประกอบของประชาคมสุขภาวะระดับตำบล 2) ศึกษาบทบาทของประชาคมสุขภาวะระดับตำบลต่อการพัฒนาสุขภาวะ 3) พัฒนาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมสุขภาวะระดับตำบล การศึกษานี้เป็นการวิจัยคุณภาพโดยใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสนทนากลุ่มย่อย และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม

ผลการศึกษา พบว่า ลักษณะประชาคมสุขภาวะตำบลกุดรัง เป็นแบบผสมระหว่างแบบชุมชนนิยม กับแบบประชาธิปไตย ดังนี้ แบบชุมชนนิยม คือ ความสมัครใจรวมกลุ่มเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและชุมชนทั้งหมด และมีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ แบบประชาธิปไตย คือ การแสดงความคิดเห็น บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็น เคารพสิทธิของผู้อื่น องค์ประกอบของประชาคมสุขภาวะตำบล ได้แก่ จิตสำนึกของประชาคมสุขภาวะตำบลและชุมชนในการเคารพคุณค่าความคิดริเริ่มเพื่อสังคมส่วนรวมและมีวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาสุขภาวะร่วมกัน มีโครงสร้างประชาคมหลากหลายและสัมพันธ์แนวราบ มีภาวะผู้นำ คือ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมและไม่ผูกขาดการเป็นเจ้าของปัญหา ความเป็นชุมชนและขนบแห่งการแบ่งปัน คือ มีความรักเอื้ออาทรและสมานฉันท์ เครือข่ายการสื่อสารสาธารณะ คือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชุมชนอื่นๆ พร้อมกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในการแสดงบทบาทของประชาคมสุขภาวะตำบล มาจากความคาดหวังเกี่ยวกับสุขภาวะของชุมชน และการรับรู้ ในศักยภาพของตนเองของประชาคมสุขภาวะตำบล ผลการพัฒนาสุขภาวะ คือ การปรับเปลี่ยน ด้านพฤติกรรมเสี่ยง สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างศักยภาพชุมชน และพัฒนานโยบายสาธารณะ แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งประชาคมสุขภาวะตำบล มี 2 แนวทาง ได้แก่ 1) ขยายผลการพัฒนาสุขภาวะเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน 2) เพิ่มจำนวนผู้นำที่มีศักยภาพทำงานพัฒนาสุขภาวะ เชิงกระบวนการ

ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษา คือ 1) หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภายนอกที่ดำเนินงานโครงการในพื้นที่ตำบล ควรกำหนดเป้าหมายระยะสั้น และระยะกลางในเชิงการสร้างการเรียนรู้และเสริมพลังการพัฒนาสุขภาวะให้กับชุมชน 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอบต.กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ผู้นำกลุ่มวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน ให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความสนใจ 3) ผู้นำชุมชน และผู้นำกลุ่ม องค์กรชุมชน ควรมีการจัดเก็บรวบรวมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่างๆที่มีในตำบลอย่างเป็นระบบ และมีการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้นำรุ่นใหม่ รวมทั้งเด็กและเยาวชน

Downloads

How to Cite

วงศ์อาสา ว. (2013). การศึกษาและพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมสุขภาวะระดับตำบล กรณีศึกษาตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม. Journal of Humanities and Social Sciences (HUSOKKU), 29(2), 113–132. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/6135

Issue

Section

บทความวิชาการ