ปัญหาการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ของประเทศไทย
คำสำคัญ:
การควบคุมสารเคมี, สารพิษตกค้างบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงแนวคิดและทฤษฎีการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 2) มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันการตกค้างในผักและผลไม้ของต่างประเทศ 3) มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย 4) วิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ของไทย และ 5) นำเสนอแนวทางการแก้ไขทางกฎหมายในการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดปัญหาการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ของประเทศไทย โดยเป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อหาแนวทางด้านมาตรการทางกฎหมาย และกำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐที่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้จนเป็นอันตรายต่อการบริโภคของไทย
ผลการวิจัย พบว่า การควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามที่บัญญัติรับรองไว้ในกฎหมาย ประเทศไทยยังคงมีข้อบกพร่องด้านมาตรการทางกฎหมายบางประการ และมีหน่วยงานภาครัฐที่หลากหลายและมีความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ เพื่อให้การควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐจึงควรบัญญัติกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติออกใช้บังคับเป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยให้เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะ มีเนื้อหาครอบคลุมมาตรการควบคุมก่อนการนำไปใช้ การควบคุมการใช้ระหว่างการเพาะปลูก และการควบคุมภายหลังการใช้ พร้อมทั้งกำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตลอดจนห่วงโซ่การใช้สารเคมี