แนวทางการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • สุมณฑา ประสงค์ศรี มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
  • สมยศ อวเกียรติ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
  • พิศมัย จารุจิตติพันธ์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

คำสำคัญ:

แนวทางการบริหารความเสี่ยง, สหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาสภาพการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยง และปัญหาอุปสรรค์ในการบริหาร ของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย 2) เปรียบเทียบลักษณะการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย จำแนกตามลักษณะองค์กร 3) ศึกษาปัจจัยการบริหารที่ส่งผลต่อการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย และ 4) วิเคราะห์และเสนอแนวทางการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ จำแนกตามประเภทกลุ่มอาชีพ จำนวน 302 คน และผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ประกอบด้วย นักวิชาการด้านการสหกรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารความเสี่ยง ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์ จำนวน 26 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว วิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ การวิเคราะห์เนื้อหา และการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค

ผลการศึกษาพบว่า สภาพการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นไปตามแนวปฏิบัติของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ นั้น มาจากปัจจัยการบริหาร โดยปัจจัยภายนอกสหกรณ์ที่ส่งผลต่อการบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นอย่างมาก คือ ด้านกฎระเบียบ ส่วนปัจจัยภายในสหกรณ์ ที่ส่งผลต่อการบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นอย่างมาก คือ ด้านการเงิน การวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ จำแนกตามลักษณะองค์กร พบว่า ประเภทกลุ่มอาชีพ ขนาดสินทรัพย์สหกรณ์ และระดับมาตรฐานสหกรณ์ แตกต่างกัน ลักษณะการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ แตกต่างกัน การศึกษาปัจจัยการบริหารที่ส่งผลต่อการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ ออมทรัพย์ พบว่า ปัจจัยภายนอกสหกรณ์ ที่ส่งผลต่อการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ ด้านการเมือง และด้านกฎระเบียบ ส่วนปัจจัยภายในสหกรณ์ ที่ส่งผลอย่างมากต่อการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ ด้านบุคลากร สำหรับแนวทางการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ได้จากการวิเคราะห์ SWOT และ TOWS Matrix สรุปได้ 3 แนวทางที่สำคัญ ถ้ามีการปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่อง สามารถลดความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ได้ ได้แก่ แนวทางที่ 1 แนวทางการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ ด้านกลยุทธ์ เป็นแนวทางเชิงรุก ความสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์ คือ ทำให้สหกรณ์มีมุมมองที่ครอบคลุม มีกรอบและทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน แนวทางที่ 2 แนวทาง การบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ ด้านปฏิบัติการ/ดำเนินงาน เป็นแนวทางเชิงป้องกัน มีการกำหนดแนวทางในการสร้างความสำเร็จให้กับเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยการจัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วนของการทำงานไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ และแนวทางที่ 3 แนวทางการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ เป็นแนวทางเชิงแก้ไข ทั้งนี้เพราะสหกรณ์ดำเนินกิจการภายใต้กรอบแห่งกฎหมายทั้งปวง แต่ต้องไม่ขัดกับข้อบังคับสหกรณ์ และพระราชบัญญัติสหกรณ์ ที่มีการปรับเปลี่ยนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินงานตามความเหมาะสม และสถานการณ์

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-06-29