ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาตนเองของบุคลากรในเทศบาลนครในภาคตะวันออก
คำสำคัญ:
การพัฒนาตนเอง, ความพึงพอใจในงาน, บรรยากาศองค์การ, คุณภาพชีวิตในการทำงาน, วัฒนธรรมองค์การบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาระดับวัฒนธรรมองค์การ บรรยากาศองค์การ คุณภาพชีวิตในการทำงาน ความพึงพอใจในการทำงาน และการพัฒนาตนเองของบุคลากรเทศบาลนครในภาคตะวันออก และ 2) เพื่อพัฒนาโมเดลเชิงสาเหตุของการพัฒนาตนเองของบุคลากรในเทศบาลนครในภาคตะวันออก กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในเทศบาลนครในภาคตะวันออก จำนวน 420 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตรวัด 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ใช้สถิติเชิงพรรณนา และตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูล
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1) วัฒนธรรมองค์การ ด้านการควบคุมของหัวหน้างาน และด้านการมีส่วนร่วมในการทำงาน อยู่ในระดับมากทั้งหมด ความพึงพอใจในการทำงาน ด้านสภาพการทำงาน ด้านการได้รับการยอมรับนับถือ และด้านนโยบายการบริหาร อยู่ในระดับมากทั้งหมด บรรยากาศองค์การด้านขนาดและโครงสร้างองค์การ อยู่ในระดับมาก ด้านความซ้ำซ้อนของระบบงาน อยู่ในระดับมาก ด้านเป้าหมายขององค์การ อยู่ในระดับมาก ด้านแบบของความเป็นผู้นำ และด้านเครือข่ายการติดต่อสื่อสารอยู่ในระดับปานกลาง คุณภาพชีวิตในการทำงาน ด้านการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ด้านความก้าวหน้าในการทำงาน และด้านความสมดุลในการทำงาน อยู่ในระดับมากทั้งหมด และระดับการพัฒนาตนเอง ด้านร่างกายและบุคลิกภาพ ด้านงาน และด้านสังคม อยู่ในระดับมากทั้งหมด 2) ตัวแบบความความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี ค่าไค-สแควร์สัมพัทธ์ (Relative Chi-square) เท่ากับ 2.43 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (Goodness of Fit Index: GFI) มีค่าเท่ากับ .940 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (Adjusted Goodness of Fit Index: AGFI) เท่ากับ .902 ดัชนีวัดความกลมกลืนเปรียบเทียบ (Comparative Fit Index: CFI) เท่ากับ .993 ค่ารากของค่าเฉลี่ยกำลังสองของเศษเหลือในรูปคะแนนมาตรฐาน (Standardized Root Mean Square Residual: SRMR) เท่ากับ .028 ค่ารากของค่าเฉลี่ยกำลังสองของความคลาดเคลื่อนโดยประมาณ (Root Mean Square Error of Approximation: RMSEA) เท่ากับ .059 ตัวแปรความพึงพอใจในงาน บรรยากาศองค์การ คุณภาพชีวิตในการทำงาน และวัฒนธรรมองค์การ สามารถอธิบายการพัฒนาตนเองได้ร้อยละ 98.5