กลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย ภายใต้มาตรการการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs)
คำสำคัญ:
กลยุทธ์ในการแข่งขัน, การส่งออกกล้วยไม้ไทย, มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ศึกษา มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) และ ผลกระทบต่อการปรับกลยุทธ์ของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่งออกกล้วยไม้ไทย ผ่านตัวแบบการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการแข่งขันอันประกอบด้วย การวิเคราะห์ SWOT และ TOWS เมทริกซ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทของการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจกล้วยไม้ไทยภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี 2) วิเคราะห์กลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกกล้วยไม้ไทยภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี และ 3) เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้ทำการทบทวนวรรณกรรมโดยการค้นคว้ารวบรวมทั้ง แนวคิด ทฤษฎี และ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการสร้างกรอบแนวคิดของการวิจัย การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) และ นำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยประกอบด้วย 1) บริบทและสภาพแวดล้อมของการแข่งขัน โดยใช้ SWOT Analysis เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและความท้าทายของธุรกิจส่งออกกล้วยไม้ไทยภายใต้การกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี 2) การวิเคราะห์กลยุทธ์จากการใช้จุดแข็ง (Strengths) ในการรับมือภัยคุกคาม (Threats) การใช้จุดแข็งเพื่อรับมือกับอุปสรรค (ST) ในการส่งออกกล้วยไม้ไทย โดยใช้ TOWS Matrix เป็นเครื่องมือ 3) ผลลัพธ์จากการทำ TOWS Matrix นำมากำหนดเป็นกลยุทธ์การแข่งขันภายใต้มาตรกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ข้อเสนอแนะหลักจากผลการวิจัย ได้แก่ การรวมกลุ่มผู้ประกอบการเป็นคลัสเตอร์เพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรอง การเชื่อมโยงเครือข่ายฐานข้อมูลภาครัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก และ การเพิ่มความสามารถในเชิงแข่งขันของผู้ประกอบการไทยบนพื้นฐานของนวัตกรรมการผลิต การตลาด ตลอดจนการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล