ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการทำกำไร ของธุรกิจการแพทย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คำสำคัญ:
ความสามารถในการทำกำไร, ธุรกิจการแพทย์, ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลบทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบอิทธิพลของโครงสร้างเงินทุน สภาพคล่องทางการเงิน ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์และมูลค่าของพนักงานในองค์กรของธุรกิจการแพทย์ ที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร แบ่งเป็น 3 มุมมอง คือ อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ และอัตรากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยศึกษาจากงบการเงิน และรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจการแพทย์ ระหว่างปี 2563 – 2565 จำนวน 22 บริษัท ผ่านการวิเคราะห์โดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์สมการถดถอยแบบพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า สภาพคล่องทางการเงิน และโครงสร้างเงินทุน ทำให้อัตรากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของกิจการลดลง ผู้บริหารจึงต้องวางแผนนโยบายการให้สินเชื่อสำหรับผู้รับบริการด้วยสิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ และนโยบายเรื่องการจัดหาเงินทุน ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ทำให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ธุรกิจจึงต้องจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ และมูลค่าของพนักงานในองค์กร เป็นสิ่งที่ธุรกิจการแพทย์ควรให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะทำให้ความสามารถในการทำกำไรทั้ง 3 มุมมอง เพิ่มขึ้น ธุรกิจการแพทย์จะประสบผลสำเร็จจึงต้องมุ่งส่งเสริมให้บุคลากรทั้ง แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ มีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะการปฏิบัติงานขั้นสูง