The Poetry Visual Arts of Mental Physics Circumstance From Quantum to Buddhist Morality

Main Article Content

Surachart Kesprasit

Abstract

การวิจัยสร้างสรรค์“ทัศนศิลป์กวีทรรศน์ปรากฏการณ์แห่งจิต จากฟิสิกส์ควอนตัมถึงพุทธธรรม” (The Poetry Visual Arts of Mental Physics Circumstance, From Quantum to Buddhist Morality)ชุดนี้  ผู้วิจัยสร้างสรรค์ ได้นำหลักเกณฑ์การจำแนกศิลปะออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน มาเป็นเครื่องพิจารณาแนวทางการวิจัยสร้างสรรค์ ได้แก่  1) ศิลปะเป็นภาษาแห่งความงาม  เป็นศิลปะที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ผลงานที่นำเสนอความงามหรือสุนทรียภาพทางรูปทรงเป็นสำคัญ(Formalism)  2) ศิลปะเป็นภาษาแห่งอารมณ์ ความรู้สึก  เป็นศิลปะที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นการแสดงออกของอารมณ์ ความรู้สึกสะเทือนใจเป็นคุณค่าสำคัญสุด(Expressivism)  และ 3) ศิลปะเป็นภาษาแห่งความคิด หรือภาษาแห่งความหมาย  เป็นศิลปะที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์เพื่อให้ผลงานศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต สังคม และโลกเพื่อยกระดับจิตใจและสังคมให้สูงขึ้น เน้นคุณค่าสำคัญที่ความคิด(Instrumentalism)  การวิจัยสร้างสรรค์(Creative Research  Project)ชุดนี้  ผู้วิจัยได้กำหนดจุดมุ่งหมายการสร้างสรรค์ศิลปะ มีเจตนาสำคัญอยู่ 2 ประการ  โดยบูรณาการผสมผสานประยุกต์เข้าด้วยกัน ได้แก่ แนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสื่อสารว่า “ศิลปะเป็นภาษาแห่งความงาม(Formalism)” กับ “ศิลปะเป็นภาษาแห่งความคิด หรือภาษาแห่งความหมาย(Instrumentalism)” กำหนดให้มีรูปแบบหรือส่วนที่เป็นรูปธรรม(Form) : ที่แสดงกระบวนการทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรมทางศิลปะรูปแบบใหม่ขึ้น  ด้วยการนำกระบวนแบบศิลปะจากสองประเภทที่มีทั้งคุณลักษณะคล้ายกันและแตกต่างกัน  และมีความสัมพันธ์กันพอสมควร  มาบูรณาการประยุกต์แทรกเข้าด้วยกัน  ให้เกิดเอกภาพที่เหมาะสมลงตัว  ได้แก่ อย่างแรก คือวิจิตรศิลป์(Fine Art) มีทัศนศิลป์(Visual Arts) เป็นสำคัญ ได้แก่ จิตรกรรม(Painting) วาดเส้น(Drawing) และอย่างหลังคือวิจิตรศิลป์(Fine Art) มีกวีนิพนธ์ (Poetry) ได้แก่ ประเภทโคลง กาพย์ กลอนสุภาพ  ทั้งทัศนศิลป์และกวีนิพนธ์ ต่างก็มีคุณค่าความงาม และใช้สุนทรียธาตุหรือสุนทรียภาษาที่สื่อให้รับรู้ดูเห็นถึง รูปแบบ ความหมาย และความเข้าใจ รวมทั้งความรู้สึกที่ต่างกัน  เพราะว่าทัศนศิลป์นั้นใช้สุนทรียธาตุหรือสุนทรียภาษา ได้แก่ จุด เส้น สี แสง เงาและที่ว่าง ประกอบกันขึ้นสื่อแสดงถึงคุณค่าทางสุนทรียภาพทางศิลปะ  ส่วนกวีนิพนธ์ ใช้ภาษาถ้อยคำ สำนวนโวหาร การแปลความหมาย ความเข้าใจในสัญลักษณ์ตัวอักษรต่างๆ  ผูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นประโยคอธิบายข้อความสารัตถะต่างๆ ในรูปแบบฉันทลักษณ์เพื่อสื่อคุณค่าทางสุนทรียภาพทางศิลปะหรือ “อรรถรส”แห่งกวีนิพนธ์ตามหลักอลังการศาสตร์ของศิลปะวรรณกรรม ในการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์กวีทรรศน์(The creation of Visual Arts Poetry) ชุดนี้ นอกจากเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการเข้าด้วยกันระหว่าง ทัศนศิลป์(Visual Arts) กับกวีนิพนธ์(Poetry) อย่างมีเอกภาพแล้ว ยังเป็นเครื่องประจักษ์ชัดว่า “ศิลปะเป็นภาษาแห่งความคิด หรือภาษาแห่งความหมาย” กับ “ศิลปะเป็นภาษาแห่งความงาม” สามารถนำมาการบูรณาการผสมผสานกันพื่อใช้เป็นเครื่องมือหรือพาหะแห่งความคิดที่บัญญัติขึ้น(Concept)เป็นสำคัญ  จนกลายเป็นการพัฒนาและเชื่อมโยงต่อยอดเกิดความก้าวหน้าการสร้างสรรค์ศิลปะ ให้แปลกใหม่อย่างมีคุณค่าทางสุนทรียภาพและมีอัตลักษณ์ที่พิเศษเฉพาะตัวออกไป การวิจัยสร้างสรรค์ (Creative Research Project) เป็นกระบวนการวิจัยแบบสร้างสรรค์ประเภททดลองและพัฒนา(R&D) หากพิจารณาแล้ว  การวิจัยสร้างสรรค์ “ทัศนศิลป์กวีทรรศน์ปรากฏการณ์แห่งจิต จากฟิสิกส์ควอนตัมถึงพุทธธรรม”(The Poetry Visual Arts of Mental Physics Circumstance, From Quantum to Buddhist Morality)นี้  ยังคงแสดงรากฐานความเชื่อและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน  มีคำว่า พุทธธรรม ให้เห็นอย่างชัดแจ้ง  ส่วนที่พิเศษกว่าเดิมก็มีปัจจัยที่แปลกใหม่เพิ่มเข้ามา คือ คำว่า ฟิสิกส์ควอนตัม และ คำว่า ปรากฏการณ์แห่งจิต เสริมแทรกประกอบเข้าด้วยกันอย่างเป็นแก่นสารระหว่างกันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า  นี่เป็นการขยายพรมแดนของการวิจัยสร้างสรรค์ในทางทัศนศิลป์  หาใช่เฉพาะแต่ชั้นการบูรณาการทางรูปแบบ  ที่นำเอากวีนิพนธ์มาแทรกผสานเข้าไปเท่านั้นไม่  หากแต่เป็นการก้าวล่วงลงไปทางความคิด  เนื้อหา เรื่องราว ออกไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราววิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ควอนตัม  ซึ่งเป็นทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม อันเป็น ฟิสิกส์ทฤษฎีใหม่  ที่ต่างออกมาจากฟิสิกส์ดั้งเดิมแบบนิวตันอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย  จากความสนใจในองค์ความรู้และการศึกษาเรื่องราววิทยาศาสตร์ ทางฟิสิกส์ควอนตัม  ผู้วิจัยแบบสร้างสรรค์นี้  มุ่งเน้นเฉพาะเพียงหลักการเรียนรู้และทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานอย่างสามัญเท่านั้น  หาได้ศึกษาล้ำลึกล่วงลงไปสู่ขั้นสูงในศาสตร์ด้านนี้แต่อย่างใดไม่  เพียงแค่หลักการเรียนรู้และทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ อาศัยแบบสัญลักษณ์โครงสร้างภาพ เกี่ยวกับ อะตอม นิวตรอน และอิเล็กตรอน ทางฟิสิกส์ควอนตัม เป็นภาพสื่อแสดงออกทางจิตรกรรม ก็พบว่ามีแก่นสาระทั้งรูปธรรม นามธรรมมากมายสามารถใช้เป็นเครื่องเสริมส่งเข้ากับหลักพุทธธรรม ของพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อความบันดาลใจในโครงการวิจัยแบบสร้างสรรค์(Creative Research Project) นี้อย่างยิ่ง  การวิจัยสร้างสรรค์(Creative Research Project) เป็นกระบวนการวิจัยแบบสร้างสรรค์ประเภททดลองและพัฒนา ที่ผู้วิจัยแบบสร้างสรรค์  ต้องกำหนดแผนการศึกษาลงไปสู่องค์ความรู้ของศาสตร์ทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ หลักพุทธธรรม ของพระพุทธศาสนาเป็นประการแรก กับหลักการเรียนรู้และทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ทางฟิสิกส์ควอนตัมเป็นประการที่สอง  โดยมีจุดหมายนำเอาสารัตถะแก่นแท้ทางรูปลักษณ์และเนื้อหาขององค์ความรู้ของศาสตร์ทั้ง 2 ด้านนี้ นำมาศึกษาแบบเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน  ทั้งในส่วนสอดคล้องเสริมสนับสนุนเข้าด้วยกัน  และในส่วนที่มีความแตกต่างกัน  โดยหลักการรวมๆแล้วทั้ง 2 ด้านนี้  มีคุณลักษณะส่งเสริมสอดคล้องในครรลองเดียวกันส่วนมาก  ฉะนั้นสัมฤทธิผลของการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์กวีทรรศน์(The creation of Visual Arts Poetry) ชุดนี้  มีจำนวนผลงานกลวิธีวาดเส้นด้วยดินสอดำ ดินสอสี ปากกาเคมี   ผสมผสานงานจิตรกรรมกลวิธี     สีอะครายลิค สีน้ำมัน สีพาสเทลชนิดน้ำมัน ทั้งหมด 4 ภาพ ล้วนมีบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในส่วนรูปแบบ(Form) และเนื้อหา(Content)  ตลอดจนกลวิธี(Technique) เป็นเครื่องยืนยันถึงนวัตกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะ ที่สำแดงอัตลักษณ์ เฉพาะตนได้อย่างเป็นรูปธรรมปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน ในการนี้สามารถวิเคราะห์สรุปผลสำเร็จ และขั้นตอนการปฏิบัติงานสร้างสรรค์ได้ ดังนี้ โดยมีการแต่งบทร้อยกรองเป็นกวีนิพนธ์ประกอบลงไปเป็นส่วนหนึ่งของงานจิตรกรรมมีคุณค่ารูปแบบภาพสัญลักษณ์  เนื้อหาเรื่องราว ให้สอดคล้องคล้อยตาม และเชื่อมโยง เข้ากับความคิดเป็นความบันดาลใจในการแต่งบทกวีนิพนธ์ โดยการเขียนบทกวีนิพนธ์นั้นเป็นลักษณะตัวอักษรวิจิตร  หรือตัวอาลักษณ์อันเป็นรูปแบบเฉพาะตัว ผสานกลมกลืนกันอย่างเป็นเอกภาพ คุณค่าทางศิลปะหรือทางสุนทรียภาพ เป็นเนื้อหาภายในที่แสดงถึงเนื้อหาทางพุทธิปัญญา(Intellectual Content)เพราะผลงานสร้างสรรค์ศิลปะนี้มีคุณลักษณะทางรูปแบบแสดงองค์ประกอบของศิลปะ ว่าเป็นการประกอบกันของรูปทรงอย่างมีความคิดขั้นตอนที่มีระบบระเบียบ มีการวางแผนด้วยพุทธิปัญญามีลักษณะเป็นระเบียบ เกิดความ    ประสานกลมกลืน ของทัศนธาตุ รูปทรงมีสัดส่วนลงตัว ให้ความรู้สึกสง่างาม ดีงาม ให้ผลทางอารมณ์อย่างเอิบอาบแสดงความสูงส่ง ทางจิตวิญญาณ

Article Details

Section
บทความวิจัย

References

กำชัย ทองหล่อ. (2530). หลักภาษาไทย. กรุงเทพมหานคร: บริษัทรวมสาสน์.

ชลูด นิ่มเสมอ. (2531). องค์ประกอบศิลปะ. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช.

ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ .(2543). การวิจัยทางศิลปะ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฟริตจอป คาปร้า .(2538). เต๋าแห่งฟิสิกส์, วเนช แปล. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

ประภาศรี สีหอำไพ. (2531). การเขียนแบบสร้างสรรค์.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ .(2549). สุนทรียภาพแห่งชีวิต.กรุงเทพมหานคร: ณ เพชรสำนักพิมพ์.

ล้อม เพ็งแก้ว. (2549). ว่ายเวิ้งวรรณคดี. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์พิมพ์คำ.

วิรุณ ตั้งเจริญ.(2544) . ทัศนศิลป์วิจัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สันติสิริ

ศรีอิทรายุทธ.(2543). ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน.กรุงเทพมหานคร :สำนักพิมพ์ทะเลหญ้า.

อิทธิพล ตั้งโฉลก.(2550). แนวทางการสอนและสร้างสรรค์จิตรกรรมชั้นสูง.กรุงเทพมหานคร:

บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่งจำกัดมหาชน.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)พุทธธรรม (ฉบับขยายความ) : สีบค้น ข้อมูลเมื่อ 01 /03/2018

(http://www.84000.org/tipitaka/dic)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ และพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลธรรม:

สีบค้น ข้อมูลเมื่อ 01 /03/2018 ( http://www.84000.org/tip taka/dic)

พระธรรมโกศาจารย์(ประยูรธมฺมจิตฺโต) : สีบค้น ข้อมูลเมื่อ 01/03/2018

http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=686&articlegroup_id=21

ศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์ : สีบค้นข้อมูลเมื่อ 01 /03/2018https://th.wikipedia.org/wiki/ ศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์

ภาพข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัม : สีบค้น ข้อมูลเมื่อ 01 /03/2018ภาพข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัม+

(Quantum+Physics)&rlz: