บทบรรณาธิการ

Main Article Content

kanokphan u sha

Abstract

                  เส้นทางสายไหมใหม่ศตวรรษที่ 21 นโยบายหนี่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road : OBOR) หรือชื่อที่เรียกเป็นทางการว่า Belt and Road Initiatives (BRI) ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ใน ค.ศ. 2013 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของโลกทั้งเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt : SREB) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road : MSR) เชื่อมต่อกับ 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา ยุโรป ที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนในภูมิภาคต่างๆ เริ่มไม่เป็นไปตามแผนความร่วมมือที่เคยประกาศไว้ ซึ่งได้สะท้อนนัยสำคัญในการขยายอิทธิจีนผ่านทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ด้านการค้า การลงทุน เพื่อพัฒนาผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ และเงินกู้พร้อมเงื่อนไข ที่นำมาสู่การทูตกับดักหนี้ (debt trap diplomacy) ของจีน การขาดความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลที่ชัดเจน ตลอดจนการขาดการมีส่วนร่วมของประเทศที่ร่วมอยู่ในโครงการนี้ เอเชียปริทัศน์ฉบับนี้ จึงนำเสนอการวิเคราะห์นัยสำคัญของการแผ่อิทธิพลของจีน สิ่งท้าทาย และอุปสรรค จากแต่ละภูมิภาคที่ร่วมในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (OBOR)
บทความแรกการแผ่อิทธิพลจีนในอาเซียน โดย ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ “ทางสายไหมใหม่ในอาเซียนกับหนทางสู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืน?” นำเสนอมโนทัศน์เกี่ยวกับทางสายไหมใหม่จากมุมมองของอาเซียนเพื่อไขข้อคำถามข้างต้น เริ่มจากเรียบเรียงข้อมูลและทัศนะทางวิชาการเพื่ออภิปรายปัญหาของโครงการในอาเซียน แล้วใช้ความเข้าใจปัญหาเชื่อมโยงไปสู่คำตอบ ทั้งนี้ ปัญหาของทางสายไหมใหม่ในอาเซียนสามารถแบ่งได้ถึง 4 ประเด็น ประกอบไปด้วย (1) ความเป็นโครงการที่เกิดจากความปรารถนาของจีนเพียงฝ่ายเดียว (2) ความอ่อนด้อยในแง่ของเสียงสนับสนุนจากภาคประชาชนในอาเซียน (3) อิทธิพลก่อกวนจากภายนอกซึ่งแสดงในทางอ้อม และ (4) ภาพลักษณ์ของโครงการที่ไม่เด่นชัดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่โครงการนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปโดยปราศจากแรงต่อต้านอย่างจริงจัง ทางสายไหมใหม่ในมุมของอาเซียน จึงไม่ใช่ทั้งโอกาสที่ต้องคว้าไว้หรือกระทั่งภัยคุกคาม แต่เป็นเพียงทางเลือกชั่วคราวที่รอการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า
                  บทความการแผ่อิทธิพลจีนในตะวันออกกลาง โดย รุสตั้ม หวันสู “ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง” นำเสนอความสำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลางต่อยุทธศาสตร์ทางสายไหมใหม่ของจีน ในฐานะที่เป็นจุดเชื่อมของสามทวีปทั้งเส้นทางสายไหม ทางบกและทางทะเล ทำให้จีนจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคตะวันออกกลางในระยะหลัง ทั้งการแสดงบทบาททางการทูตผ่านความขัดแย้งในซีเรีย การสร้างฐานทัพจีนนอกประเทศครั้งแรกที่ประเทศจิบูติ และตีพิมพ์เอกสารนโยบายจีนต่อประเทศอาหรับ นอกเหนือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งมีพลังงาน การค้าและการลงทุนเป็นเรื่องหลักแล้ว จีนยังหวังว่าการแสวงหาพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลางจะสามารถหยุดยั้งการเผยแพร่แนวคิดก่อการร้ายจากภูมิภาคดังกล่าวเข้าสู่ประเทศจีนได้ จะเห็นได้ว่าจีนกำลังเข้ามาแสดงบทบาทของมหาอำนาจใหม่ที่ท้าทายมหาอำนาจเดิม ตะวันออกกลางจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่จีนจะสามารถปรับสมดุลการเมืองโลก ซึ่งจีนต้องการโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ (multipolar) และโลกที่มีความสมานฉันท์
บทความการแผ่อิทธิพลจีนในตุรกี โดย มาโนชญ์ อารีย์ “ความสัมพันธ์ตุรกี – จีน จากปัญหาอุยกูร์ถึงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์บนเส้นทางสายไหมใหม่และความเกี่ยวพันเชิงสร้างสรรค์” เป็นการศึกษาพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี – จีน ที่มีทั้งโอกาสและความท้าทายในอนาคต ความพยายามในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน จุดยืนของตุรกีต่อปัญหาอุยกูร์และการตอบสนองโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน
                  บทความการแผ่อิทธิพลจีนในภูมิภาคเอเชียใต้ โดย บัณฑิต อารอมัน “การแผ่อิทธิพลจีนในเอเชียใต้ผ่านเส้นทางสายไหม” เป็นการศึกษาการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียใต้ผ่านการผลักดันนโยบายโครงการริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) โดยวิเคราะห์ผลจากโครงการที่จีนเข้าไปลงทุน และการตอบรับนโยบายของจีนจากกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ เพื่อเข้าใจแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนต่อการสร้างเครือข่ายระเบียงเศรษฐกิจทั้งทางบกและทางทะเล และศึกษาความสมดุลระหว่างบทบาทจีนและอินเดียในฐานะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสูงกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อจะช่วยให้เข้าใจถึงสถานการณ์และแนวโน้มในการแผ่อิทธิพลจีนในเอเชียใต้ อุปสรรคและความท้าทายของจีนต่อเส้นทางสายไหมใหม่ในมหาสมุทรอินเดีย และการวิเคราะห์ข้อจำกัดและความหวาดระแวงของจีนและอินเดียต่อการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน
                   การนำเสนอบทความวิจัย นโยบายเส้นทางสายไหม : ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน และแนวโน้มการลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยวนิดา วาดีเจริญ และรังสรรค์ เลิศในสัตย์ ที่เสนอการศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีนภายใต้นโยบายเส้นทางสายไหม และ ศึกษาแนวโน้มการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นในไทย นับจากการริเริ่มโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
                   สุดท้าย แนะนำหนังสือ “อาเซียน สิ่งมหัศจรรย์ผู้สร้างสันติภาพ” โดย ศิริพร ดาบเพชร ซึ่งเป็นหนังสือที่แปลจาก The ASEAN Miracle A Catalyst for Peace เขียนโดย Kishore Mahbubani นักการทูตชาวสิงคโปร์ และ Jeffery Sng ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แปลโดย ดร. ธีระ นุชเปี่ยม และ ดร.ประพิน นุชเปี่ยม จัดพิมพ์โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2561 หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนที่ครอบคลุมและลึกซึ้งในหลากหลายประเด็นตั้งแต่ที่มาของวัฒนธรรมของชาติต่างๆ ประวัติศาสตร์อาเซียนในช่วงเวลาต่างๆ และนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจของอาเซียนในฐานะองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางการเมือง การสร้างสันติภาพท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก จึงเป็นหนังสือที่เหมาะแก่นักวิชาการและนักเรียนนักศึกษาอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้และมุมมองต่างๆ รวมทั้งเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


กนกพรรณ อยู่ชา
บรรณาธิการประจำฉบับ

Article Details

How to Cite
u sha, kanokphan. (2019). บทบรรณาธิการ. ASIA PARIDARSANA, 40(1), 5–6. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/asianreview/article/view/207151
Section
บทความวิจัย (Research Articles)
Share |