บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง "กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่องธรรมชาติ อำนาจ และจารีต"

ผู้แต่ง

  • พระวิเชียร เถี่ยนอี๊ (กาญจนไตรภพ) นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

หนังสือเรื่อง “กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่องธรรมชาติ อำนาจ และจารีต” เขียนโดย สุวรรณา สถาอานันท์ เป็นหนังสือทางวิชาการที่เกี่ยวกับปรัชญาจีนและจีนศึกษา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเดือนกันยายน พ.ศ. 2538 สำหรับเล่มที่ผู้วิจารณ์ใช้ในการวิจารณ์นี้เป็นการพิมพ์ครั้งที่ 4 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 มีจำนวน 320 หน้า เพื่อเสนอมุมมองของปรัชญาจีน และวัฒนธรรมจีน คติความเชื่อของชาวจีน และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีนศึกษา เนื้อหาการเขียนของหนังสือเรื่อง “กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่องธรรมชาติ อำนาจ และจารีต” นี้ได้มีการแบ่งสัดส่วนเนื้อหาหลักของงานออกเป็น 4 บท ได้แก่ บทที่ 1 ขงจื่อ: ปริมณฑลปรัชญาจีน, บทที่ 2 เหลาจื่อ: วีถีแห่งธรรมชาติ, บทที่ 3 จวงจื่อ: ท้าทายขนบจารีต, บทที่ 4 หานเฟยจื่อ: อำนาจนิตินิยม, บรรณานุกรม และประวัติผู้เขียน ซึ่งเป็นการแบ่งตามรูปแบบของหนังสือทางวิชาการทั่วไป ผู้วิจารณ์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มี 2 ประการ คือ 1) การหลีกลี้สังคม ผู้วิจารณ์เห็นด้วยกับผู้เขียนที่อธิบายต่างจากทัศนะของศาสตราจารย์ เฮอร์เบิร์ต ฟิงกาเร็ต เพราะวัฒนธรรมของตะวันออกโดยเฉพาะของจีนนั้นย่อมมีความแตกต่างกับวัฒนธรรมตะวันตกที่ได้นำมาเป็นฐานความคิดในการอภิปรายคัมภีร์หลุนอี่ว์ แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่จะผู้เขียนมีท่าทีที่สนับสนุนขงจื่อที่มองมรรควิธีของตนว่าเป็นหนทางอันถูกต้องเพียงหนทางเดียว และ 2) จวงจื่อกับ ปรัชญาจีน ประเด็นนี้ผู้วิจารณ์เห็นด้วยกับผู้เขียนที่มองจวงจื่อมีแนวคิดที่แตกต่างและโดดเด่นจากนักปราชญ์ร่วมสมัย จนได้รับการยกย่องจากนักวิชาการยุคปัจจุบัน แม้จะถูกมองว่าเป็นแนวคิดสุดโต่งและถูกต่อต้านจากนักคิดร่วมสมัยก็ตาม อย่างไรก็ตาม หนังสือเรื่อง “กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่องธรรมชาติ อำนาจ และจารีต” เล่มนี้ มีความเหมาะสมสำหรับนิสิตนักศึกษาด้านปรัชญาที่ควรอ่านหลังจากมีพื้นฐานความรู้ทางด้านปรัชญาจีนเบื้องต้น ก็จะช่วยต่อยอดแนวคิดเชิงปรัชญาต่อไปทั้งทางด้านปรัชญาจีนสำนักต่างๆ ทั้งนี้เพื่อต่อยอดความสนใจใคร่รู้ที่สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงลึกได้ต่อไป

References

สุวรรณา สถาอานันท์. (2556). กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่องธรรมชาติ อำนาจ และจารีต. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์.

เผยแพร่แล้ว

30-12-2023