บทความปริทัศน์ เรื่อง “นิตยสารธรรมจักษุ (พ.ศ. 2437-2454) : ความเป็นมาและสารัตถะ”
คำสำคัญ:
นิตยสารธรรมจักษุ, ความเป็นมา, สารัตถะบทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการปริทัศน์บทความวิจัย เรื่อง “นิตยสารธรรมจักษุ (พ.ศ. 2437-2454) : ความเป็นมาและสารัตถะ” ที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ในวารสารธรรมธารา ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (2023) : (ฉบับรวมที่ 17) กรกฎาคม-ธันวาคม จำนวน 43 หน้า (หน้า 76-119) พิมพ์ที่ ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI พระนครศรีอยุธยา โดยผู้แต่ง คือ พระมหาสราวุธ โพธิ์ศรีขาม และ ณัชพล ศิริสวัสดิ์ ได้เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของงานวิจัยเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์ หลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาบาลี-สันสกฤต และพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์การศึกษา เพื่อศึกษาความเป็นมาของนิตยสารธรรมจักษุ พ.ศ. 2437-2454 เพื่อวิเคราะห์สารัตถะและกลวิธีนำเสนอพุทธธรรมที่ปรากฏในนิตยสารธรรมจักษุ พ.ศ. 2437-2454 และเพื่อศึกษาบทบาทสำคัญของพุทธธรรมในนิตยสารธรรมจักษุที่มีต่อพุทธศาสนาไทย ใช้วิธีการวิจัยเอกสาร นำเสนอโดยการพรรณนาวิเคราะห์
บทความวิจัยที่นำมาวิจารณ์นี้ มีจุดเด่น คือ การนำเสนอผลการศึกษาความเป็นมาและสารัตถะของนิตยสารธรรมจักษุ พ.ศ. 2437-2454 ที่ได้ข้อมูลจากการศึกษาเอกสารปฐมภูมิ โดยบรรยายด้วยภาษาที่เรียบง่ายอย่างละเอียดและชัดเจน มีข้อค้นพบว่า นิตยสารธรรมจักษุเป็นนิตยสารทางพุทธศาสนาเล่มแรกในประเทศไทย และมีคุณค่าเป็นวรรณกรรมร้อยแก้วทางพุทธศาสนาเถรวาทในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนจุดด้อย คือ ข้อจำกัดของการรายงานผลการวิจัยที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัย โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความสำคัญ คือ เนื้อหาพุทธธรรมของนิตยสารธรรมจักษุ ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นบรรณาธิการ พ.ศ. 2437-2454 ที่มีบทบาทต่อพุทธศาสนาไทย
คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องของการรู้และการเห็นเสมอ มิใช่เรื่องของการเชื่อ ดังปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาที่กล่าวถึงบุคคลที่ได้กระทำสัจธรรมให้แจ้งแล้วว่า “ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรมที่ปราศจากธุลีและมลทิน) ได้เกิดขึ้นแล้ว” ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงทำให้เป็นที่ประจักษ์ ตลอดระยะเวลา 17 ปี ของการตีพิมพ์นิตยสารธรรมจักษุ (พ.ศ. 2437-2454) นับเป็นคุณูปการแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้
References
นวพร เรืองสกุล (แปล). (2561). พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : กองทุนบุญนิธิหอไตร.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2468). จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศ ในรัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองสิงคโปร์ แลเมืองเบตาเวียครั้งแรก แลเสด็จประพาสอินเดีย (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
พระมหาสราวุธ โพธิ์ศรีขาม และณัชพล ศิริสวัสดิ์. (2566). นิตยสารธรรมจักษุ (พ.ศ. 2437-2454) : ความเป็นมาและสารัตถะ, วารสารธรรมธารา ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (2023): (ฉบับรวมที่ 17) กรกฎาคม - ธันวาคม. พระนครศรีอยุธยา : ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI. น. 76-119.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2514). อนุสรณ์งานศพ ประมวลพระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชหัตถเลขา-ลายพระหัตถ์ เรื่องหนังสือธรรมจักษุ. พระนคร : พุทธอุปถัมภ์การพิมพ์.
Venerable Dr. W. Rahula. (1978). What the Buddha Taught. Taipei, Taiwan: Corporate Body of the Buddha Educational Foundation.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2023 พุทธมัคค์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.