SETTLEMENT THE CRIMINAL CASE OUT OF THE COURT BY THE OFFICIAL STAGE

Main Article Content

ถวิล โอทอง

Abstract

การเปรียบเทียบคดีเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ใช้เบี่ยงเบนคดีที่เป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ออกจากศาล เพื่อช่วยในการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล เนื่องจากการเปรียบเทียบคดีทําให้ความผิดเล็กๆ น้อยๆ สามารถเลิกกันได้ในชั้นเจ้าพนักงาน ซึ่งจะมีผลดีแก่ตัวผู้กระทําผิดในแง่ที่ว่าทําให้เกิดความรวดเร็วในการดําเนินการ และตัวผู้กระทําผิดเองก็ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล อันจะทําให้เกิดตราบาป (Stigma) ในทางอาญา หรือมลทินติดตัวกับผู้กระทําผิด แต่เนื่องจากรัฐได้ออกกฎหมายพิเศษขึ้นเป็นจำนวนมาก และกฎหมายนั้นไม่ได้แบ่งแยกโทษทางปกครองออกจากโทษทางอาญา เป็นผลให้ความผิดตามกฎหมายพิเศษส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎ ระเบียบของสังคม ซึ่งความผิดลักษณะนี้ควรมีมาตรการลงโทษทางปกครอง มากกว่าเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา และกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเปรียบเทียบคดีอาญาไว้  หากเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวเปรียบเทียบคดีไม่สำเร็จ ก็ต้องส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป จึงมีลักษณะการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันในระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ทำให้ผู้รับบริการจากรัฐเกิดความเดือดร้อนหลายครั้งในการกระทำความผิดเดียว หรือเกิดความล่าช้าในกระบวนการให้บริการของเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับเป็นการผลักภาระไปให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมากจนเกินไป ทั้งๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นเหล่านั้นมีทักษะและข้อมูลพร้อมเกี่ยวกับการค้นหาความจริงอยู่แล้ว สามารถทำสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการได้เลย ถ้าส่งให้ตำรวจดำเนินการก็ต้องเริ่มต้นการสอบสวนใหม่ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลา บุคลากร และงบประมาณโดยใช่เหตุ รวมทั้ง ถ้าการเปรียบเทียบคดีสำเร็จโดยเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จะไม่มีการตรวจสอบกลั่นกรองจากอัยการซึ่งเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด มีเพียงแต่การตรวจสอบกลั่นกรองจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเท่านั้น จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการทุจริตได้


จึงควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีได้ โดยการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพิ่มเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐให้มีอำนาจสอบสวนด้วย และแก้ไขกฎหมายที่รัฐกำหนดขึ้น และมีมาตรการลงโทษทางอาญาให้สอดคล้องกับมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้ง ควรแยกความผิดทางปกครองกับความผิดทางอาญาออกจากกันให้ชัดเจน โดยควรกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น และควรกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก

Article Details

Section
Articles