ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการขอรับบริจาคเงิน

Main Article Content

ศุภวัฒน์ ศุภพล

Abstract

ในปัจจุบันสภาพสังคมของประเทศไทยเต็มไปด้วยการขอรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือบุคคล สัตว์ องค์กร หรือมูลนิธิต่าง ๆ อันเนื่องมาจากปัญหาความขาดแคลนทรัพยากร หรือปัญหาจากภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย ซึ่งการขอรับบริจาคในแต่ละครั้งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในสังคม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ว่า คนไทยมีจิตใจโอบอ้อมอารี ช่วยเหลือเผื่อแผ่บุคคลอื่นในยามที่ตกทุกข์ได้ยากหรือต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี ปรากฎว่ามีมิจฉาชีพใช้ช่องทางในการขอรับบริจาคเงินเป็นการหลอกลวงประชาชนเพื่อนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตน หรือในการขอรับบริจาคบางกิจกรรม ผู้ขอรับบริจาคมิได้นำเงินไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่อ้างในขณะขอรับบริจาค


ประเทศไทยมีกฎหมายที่ใช้สำหรับควบคุมการขอรับบริจาค คือ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2478 แต่กลับปรากฏว่ามีปัญหาการใช้บังคับหลายประการเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมการขอรับบริจาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากสภาพสังคม ทัศนคติของผู้คนในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เปลี่ยนรูปแบบการขอรับบริจาคในรูปแบบเดิม ๆ เช่น การขอรับบริจาคเงินผ่านกล่องรับบริจาคพัฒนาไปสู่การขอรับบริจาคผ่านแอพพลิเคชั่น สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น


จากการศึกษาพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2478 เปรียบเทียบกับกฎหมายอังกฤษและเวลส์ สาธารณรัฐฟินแลนด์ และมลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย พบว่า มาตรการในการควบคุมและกำกับดูแลการขอรับบริจาคเงินของประเทศไทยยังมีปัญหาหลายประการ กล่าวคือ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2478 ใช้ควบคุมการขอรับบริจาคที่มีวัตถุประสงค์เพื่อราชการ เทศบาล และเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น ส่วนการขอรับบริจาคที่มีวัตถุประสงค์อื่นนอกจากที่กล่าวมากลับไม่ถูกควบคุมแต่อย่างใด สำหรับการขอรับบริจาคที่อยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2478 ก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น ขอบเขตของการขอรับบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ครอบคลุมมากน้อยเพียงใด การขาดความยืดหยุ่นในการใช้บังคับกฎหมายที่บุคคลทุกคนซึ่งประสงค์ขอรับบริจาคจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง รวมไปถึงยังขาดมาตรการในการกำกับดูแลวิธีการขอรับบริจาคเงินผ่านช่องทางทั้งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และไม่ใช้สื่ออิเล็กทรอกนิกส์ อีกทั้ง เมื่อดำเนินการขอรับบริจาคเรียบร้อยแล้ว มาตรการที่กฎหมายกำหนดให้จัดทำบัญชีรับจ่ายยังขาดมาตรการการควบคุมและการตรวจสอบที่เพียงพอ และขาดการรายงานผลการดำเนินงานภายหลังเสร็จสิ้นการขอรับบริจาคให้แก่สาธารณชนทราบ ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลยังขาดอำนาจหน้าที่ในข้อสำคัญบางประการ

Article Details

Section
Articles

References

วิณัฏฐา แสงสุข และฐิติพร ลิ้มแหลมทอง, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2549) 20.

วีระชัย โชคมุกดา, สงครามโลก 1, 2 (ฉบับสมบูรณ์) (พิมพ์ครั้งที่ 2, ยิปซี กรุ๊ป 2556).

สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 2) (31 มีนาคม 2497).

สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) (13 กรกฎาคม 2480).

สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8/2486 (สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 2 สมัยที่ 2) (18 พฤศจิกายน 2486).

Economic Intelligence Center, ‘คนไทยใจบุญ’ (SCBEIC, 30 สิงหาคม 2562) <https://www.scbeic.com/th/detail/

file/product/6245/ffib71wri3/EIC-Press-Release-Data-Info-(Aug)_ทำบุญ_20190830.pdf> สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2563.

Charities Aid Foundation, ‘CAF World Giving Index 10TH edition’ <https://www.cafonline.org/docs/default-source/about-us-publications/caf_wgi_10th_edition_report_2712a_web_101019.pdf>.สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563.