ปัญหาการดำเนินคดีซ้ำ : ศึกษากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคดี ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
Main Article Content
Abstract
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินคดีซ้ำ จากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำ หลักการของกฎหมายและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษารายละเอียดจากตำราทางกฎหมาย เอกสารและงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบการดำเนินคดีทุจริตตามกฎหมายในประเทศที่มีระบบกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศไทย เพื่อหาบทสรุปและข้อเสนอแนะให้การดำเนินคดีทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยความผิดในทางอาญา กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม รวมถึงการพิจารณา “ส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ ที่มิใช่ความผิดร้ายแรงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้” ทั้งยังให้อำนาจดำเนินคดีได้ใหม่อีกครั้งในกรณีไม่เห็นด้วยกับผลการดำเนินการของพนักงานสอบสวนโดยไม่มีข้อจำกัดในการใช้ดุลยพินิจ ย่อมมีผลกระทบกับคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังคงมีหน้าที่ต้องเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งคดี โดยหากเป็นกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 บัญญัติห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก อันเป็นไปตามเงื่อนไขระงับคดี และหลัก ne bis in idem หรือหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำ
นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ในมาตรา 55 (2) ได้กำหนดห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีการดำเนินการต่อผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม แต่ในมาตรา 66 กลับกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินคดีใหม่ได้ ทั้งที่มีการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายขัดแย้งกันเองอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมที่ต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันเอง อันเป็นหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มุ่งคุ้มครองถึงความแน่นอนชัดเจนของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่จะต้องถูกบังคับตามกฎหมาย
ดังนั้น บทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจใช้ดุลยพินิจสั่งการให้มีการดำเนินคดีซ้ำได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขและข้อยกเว้นของหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำ จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขัดต่อหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำ หลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และยังขัดต่อหลักนิติธรรมตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานในการดำเนินคดีอาญาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อไป
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์เป็นวรรณกรรมของผู้เขียนโดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
References
หนังสือ
ภาษาไทย
คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ, หลักนิติธรรม The Rule of Law ความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม, (พิมพ์ครั้งที่ 2, เจริญรัฐการพิมพ์ 2558).
คณิต ณ นคร, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, (พิมพ์ครั้งที่ 9, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2561).
คณิต ณ นคร,กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, (เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 10, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2564).
คณิต ณ นคร,กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป, (พิมพ์ครั้งที่ 7, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2563).
จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค1 ตอนที่ 1 (แก้ไขเพิ่มเติม พิมพ์ครั้งที่ 6, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2519).
ปกป้อง ศรีสนิท, กฎหมายอาญาชั้นสูง, (พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน 2561).
สหรัฐ กิติ ศุภการ, หลักและคำพิพากษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (พิมพ์ครั้งที่ 12, สำนักพิมพ์อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง 2563).
สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับอ้างอิง (พิมพ์ครั้งที่ 20, สำนักพิมพ์วิญญูชน 2563).
ภาษาต่างประเทศ
Andrew Venn Dicey, Introduction to the Study of the Law of the Constitution (8th edn, London Macmillan Publishers 1915).
Professor Lon L. Fuller, The Morality of law (Revised edition, Yale University BookCrafters Inc. 1969).
บทความ
อรรถพล ใหญ่สว่าง, ‘หลักนิติธรรม’ (2557) 1 วารสารจุลนิติ 38.
วิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์
ธัชพงษ์ วงษ์เหรียญทอง, ‘การดำเนินคดีซ้ำ : ศึกษาผลคำพิพากษาศาลต่างประเทศต่อการฟ้องคดีอาญา
ในประเทศไทย’ (ดุษฎีนิพนธ์ นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2558).
เอกสารการประชุมสัมมนา
ณรงค์ ใจหาญ, ‘อาชญากรรมคอปกขาว’ (การบรรยายวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาชั้นสูง, หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562).
ธานินทร์ กรัยวิเชียร, ‘การทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทย’ (งานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์จิตติ
ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 7, กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545).
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ‘4 ปี รัฐธรรมนูญ : ปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง’ ใน เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ, (หลักสูตรบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน, สถาบันพระปกเกล้า, 2544).
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ‘ความเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช ....’ (2560) <https://cdc.parliament.go.th/
draftconstitution2/more_news.php?cid=115&filename=draftconreleate2> สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2563.
เอกสารอื่น
-- งานประชาสัมพันธ์ แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2565, ข่าวแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับที่ 9 วันที่ 2 กันยายน 2565.