ปัญหาทางกฎหมายของคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวในกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

Main Article Content

วริทธิ์ธร ศรีสวัสดิ์

Abstract

บทความนี้มุ่งศึกษาถึงปัญหาทางกฎหมายของคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวในกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำให้องค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าสามารถเยียวยาสภาพการแข่งขันในตลาดหรือผู้ประกอบธุรกิจในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมอันเป็นการจำกัดการแข่งขันได้อย่างทันท่วงทีในระหว่างที่กรณีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยให้อำนาจคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในการออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับ หยุด แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงการกระทำ รวมทั้งมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย คือมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าว มิได้กำหนดไว้โดยชัดเจนว่าให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจในการออกคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวได้หรือไม่ นอกจากนี้เมื่อการใช้อำนาจออกคำสั่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาถึงสถานะของคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ รวมไปถึงความเหมาะสมในการนำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองมาใช้บังคับกับการพิจารณาออกคำสั่งดังกล่าวโดยเฉพาะเรื่องการเปิดโอกาสให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนหรือสิทธิที่จะได้รับฟังของคู่กรณี


ในประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนได้ศึกษาถึงหลักการพื้นฐานในการใช้อำนาจทางปกครองที่เป็นการออกคำสั่ง ในกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ประกอบกับแนวทางและเงื่อนไขในการใช้อำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวขององค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าในต่างประเทศ ทำให้เห็นว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในการออกคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวได้ แต่อย่างไรก็ตาม การให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจในการออกคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเพื่อให้สามารถระงับยับยั้งพฤติกรรมอันเป็นการจำกัดการแข่งขันทางการค้าได้อย่างทันท่วงที จากการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศจึงควรกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจออกคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวได้ภายใต้เงื่อนไขในการใช้อำนาจหรือกำหนดองค์ประกอบส่วนเหตุในการออกคำสั่งเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วนหากเนิ่นช้าไปอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือตลาดใดตลาดหนึ่งหรือผู้ประกอบธุรกิจอื่น นอกจากนี้ แม้ว่าคำสั่งในลักษณะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการตระเตรียมเพื่อออกคำสั่งทางปกครอง แต่คำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวมีผลในระดับที่รุนแรงจนถึงขนาดแยกออกจากคำสั่งทางปกครองในบั้นปลายและดำรงอยู่โดยตัวของตัวเองได้ ดังนั้น คำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวจึงมีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครอง และการพิจารณาออกคำสั่งต้องถูกบังคับตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่การนำกฎหมายฉบับดังกล่าวมาบังคับใช้กับการพิจารณาออกคำสั่งดังกล่าวโดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิของคู่กรณีในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน โดยสภาพย่อมมีเหตุตามข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่งตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ออกในกรณีจำเป็นเร่งด่วน จากการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศประกอบกับลักษณะและผลของคำสั่งแล้ว คำสั่งดังกล่าวจำต้องวินิจฉัยพฤติกรรมอันเป็นการจำกัดการแข่งขันทางการค้าโดยใช้ความเชี่ยวชาญและเทคนิคเฉพาะทาง รวมทั้งมีผลเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการประกอบธุรกิจของผู้รับคำสั่ง ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะใช้ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าวและควรกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องจัดให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านก่อนการออกคำสั่งดังกล่าวเสมอ

Article Details

Section
Articles

References

หนังสือ

ภาษาไทย

พรชัย วิสุทธิศักดิ์, กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (วิญญูชน 2563).

วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายปกครองภาคทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 1 นิติราษฎร์ 2554).

วิทยานิพนธ์

ภาษาไทย

วรานนท์ อมรธำรง, ‘การศึกษาเปรียบเทียบการบริหารและบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า’(วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2547).

เอกสารประกอบการประชุม

ภาษาไทย

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ...., บันทึกการประชุม ครั้งที่ 12.

สำนักกฎหมายสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) , บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 71/2559 วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2559 58.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

ภาษาต่างประเทศ

Alec J. Burnside and Adam Kidane , ‘Interim Measures: An overview of EU and national case law’ (Concurrences Antitrust Publication & Events , 7 June 2018 <https://www.concurrences.com/IMG/ pdf/alec_j._burnside_adam_kidane__interim_measures__an_overview_of_eu_and_national_case_law.pdf?42067/88ef3e2932cc547cc56d9630b273aca4582c3a7a > สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563.

Bundeskartellamt, Bundeskartellamt Annual Report 2020/21 15,17<https://www.bundeskartellamt

.de/SharedDocs/Publikation/EN/Jahresbericht/Jahresbericht_2020-2021.pdf?__blob=publication File&v=2> สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2565.

Bundeskartellamt, Press release ‘Bundeskartellamt preliminarily objects to Lufthansa’s impediment of Condor in the long-haul business’ 8 February 2022 <https://www.bundeskartellamt.de/SharedDocs/ Publikation/EN/Pressemitteilungen/2022/08_02_2022_LH_Condor_Abmahnung.pdf?__blob=publicationFile&v=2> สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2565

Bundeskartellamt, Press release ‘Lufthansa impedes Condor in competition for long-haul flights – Bundeskartellamt secures access to feeder flights’ 1 September 2022<https://www.bundeskartellamt.de/ SharedDocs/Publikation/EN/Pressemitteilungen/2022/01_09_2022_LH_Condor.pdf?__blob=publicationFile&v=2 >สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2565.

OECD, REMEDIES AND SANCTIONS IN ABUSE OF DOMINANCE CASES DAF/COMP(2006)19,15 MAY 2007 <https://www.oecd.org/competition/abuse/38623413.pdf>สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2563.

OECD, Working Party No. 3 on Co-operation and Enforcement Interim Measures in Antitrust Investigations – Note by the United States 21 June 2022DAF/COMP/WP3/WD(2022)12 <https://one.oecd.org/ document/DAF/COMP/WP3/WD(2022)12/en/pdf>สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565.

OECD, Working Party No. 3 on Co-operation and Enforcement Interim Measures in Antitrust Investigations – Note by France 21 June 20 DAF/COMP/WP3/ WD(2022)5 <https://one.oecd.org/document/ DAF/COMP/WP3/WD(2022)5/en/pdf> สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565.

UNCTAD ‘Appropriate sanctions and remedies’ (30August 2010) TD/RBP/CONF.7/5.