การศึกษาสภาพการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

Main Article Content

ว่าที่ ร.ต.พิศดาร แสนชาติ
ผศ.ดร.ชมพูนุท โมราชาติ
ผศ.ดร.อนุชา เพียรชนะ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไป สภาพการจัดการขยะมูลฝอยโดยเทศบาลและโดยชุมชน สุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นเทศบาลจำนวน 276 แห่งจากเทศบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจำนวน 889 แห่ง ใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึง เดือนมีนาคม 2559
ผลการวิจัยพบว่า เทศบาลจำนวน 276 แห่ง เป็นเทศบาลนคร 2 แห่ง เทศบาลเมือง
11 แห่ง และเทศบาลตำบล 263 แห่ง มีพื้นที่รับผิดชอบเฉลี่ย 28.93 ตารางกิโลเมตร จำนวนชุมชนเฉลี่ย 12 ชุมชน จำนวนหลังคาเรือนเฉลี่ย 2,804 หลังคา จำนวนประชากร เฉลี่ย 8,133 คน
ลักษณะชุมชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.00 เป็นชุมชนชนบท เทศบาลร้อยละ 87.32 มีการจัดการขยะมูลฝอยโดยเทศบาลคือการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอย ปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บขนได้เฉลี่ย 2,916.10 ตันต่อปี มีค่าใช้จ่ายรวมในการเก็บขนขยะมูลฝอยเฉลี่ย 791.26 บาทต่อตันต่อปี เทศบาลร้อยละ 71.78 นำขยะมูลฝอยไปกำจัดในสถานที่ของตนเอง แต่เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกหลักสุขาภิบาลเพียงร้อยละ 21.99 มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะมูลฝอยเฉลี่ย 241.44 บาทต่อตัน สำหรับการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชนนั้นพบว่า เทศบาลที่มีกิจกรรมการคัดแยกขยะ
อินทรีย์ไปใช้ประโยชน์มีร้อยละ 59.06 คัดแยกขยะรีไซเคิลและเพิ่มมูลค่ามีร้อยละ 65.58
คัดแยกและรวบรวมขยะอันตรายไปกำจัดมีร้อยละ 19.93 นำขยะมูลฝอยมาประดิษฐ์
เป็นเครื่องใช้มีร้อยละ 34.42 จัดทำถนนปลอดถังขยะมีร้อยละ 20.29 กำหนดกติกาในการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกับชุมชนมีร้อยละ 36.23 จัดตั้งชุมชนตัวอย่างที่ดีในการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชนมีร้อยละ 30.43 สร้างศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะโดยชุมชนมีร้อยละ 17.39
ในการดำเนินการดังกล่าวมีเทศบาลร้อยละ 51.09 ที่มีภาคส่วนอื่น ๆ ดำเนินการหรือร่วมมือหรือสนับสนุนกิจกรรมการคัดแยกขยะมูลฝอยและนำมาใช้ประโยชน์ กิจกรรมการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชนที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1) การรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง 2) การคัดแยกขยะอินทรีย์และนำไปใช้ประโยชน์ 3) การคัดแยกขยะรีไซเคิลและการเพิ่มมูลค่า 4) การคัดแยกขยะทั่วไปและการเพิ่มมูลค่า 5) การคัดแยกขยะอันตราย
เพื่อนำส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธี 6) การส่งเสริมศักยภาพประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอย
โดยชุมชน และ 7) การทำงานในหน้าที่ด้านการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลที่ได้ดำเนิน
การเป็นครั้งแรก

Article Details

บท
บทความวิชาการ