ผ้าซิ่น : กรณีศึกษาเมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

Main Article Content

สุปิยา ทาปทา
อานันท์ ทาปทา
กาญจนา ชินนาค
สุดาพร ตังควนิช
ชนันต์รัตน์ รูปใหญ่
ศศิธร อดิศรเมธากุล
พอนสะวัน เทพพะสุรินทอน
ดาวัน ทำมะวง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ประวัติความเป็นมาของการทอผ้า
2) กระบวนการ ทอผ้า คติความเชื่อและลวดลายผ้า (สื่อสัญญลักษณ์) 3) สภาพปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนา รวมทั้ง บทบาทของหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมสนับสนุนด้าน
การทอผ้า 4) เพื่อศึกษาการคงอยู่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการนุ่งผ้าซิ่น และบทบาทของหน่วยงาน
ภาครัฐในการส่งเสริมสนับสนุนการนุ่งผ้าซิ่นของผู้หญิงลาว ขอบเขตของการศึกษาคือ
บ้านสะผ่าย และบ้านดอนโค เมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ใช้วิธีวิจัย
เชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ และแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประวัติความเป็นมาของการทอผ้า ทั้งบ้านสะผ่ายและบ้านดอนโค มีการทอผ้า
มาไม่ต่ำกว่า 400 ปี และมีการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
2. กระบวนการทอผ้า ในอดีตทั้งสองหมู่บ้าน จะใช้เส้นใยจากธรรมชาติคือไหมและ
ฝ้าย ใช้สีธรรมชาติในการย้อม และการทอผ้า เป็นการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกสาว จะทอผ้า
เพื่อใช้ในครอบครัวและนำไปแลกเปลี่ยน แต่กระบวนการทอผ้าในปัจจุบัน ทั้งสองหมู่บ้าน
จะเปลี่ยนมาใช้เส้นใยอุตสาหกรรมคือ เส้นใยไหมจากประเทศจีนแทน เนื่องจากไม่มีขั้นตอน
ในการเตรียมเส้นไหมที่ยุ่งยาก ราคาถูก เส้นไหมเรียบ หาซื้อได้สะดวก ใช้สีเคมีในการย้อม
และการทอผ้ายังคงมีการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกสาวเช่นเดียวกับในอดีต เทคนิคการทอผ้า
ของพวกเขาคือ “มัดหมี่” (กั้นสีเส้นใย) “จก”(เส้นพุ่งพิเศษแบบไม่ต่อเนื่อง) “ขิด” (เส้นพุ่งพิเศษแบบต่อเนื่อง) โดยส่วนใหญ่ช่างทอผ้าที่บ้าน สะผ่ายจะทอตัวซิ่น (ซิ่นหมี่/มัดหมี่) ส่วนช่างทอผ้าบ้านดอนโคจะทอ “จก” และ “ขิด” สำหรับ ส่วนเชิงผ้า (ตีนซิ่น)
คติความเชื่อและสื่อสัญลักษณ์เกี่ยวกับลวดลายผ้า ชาวบ้านจะไม่เข้าใจความหมาย ช่างทอปัจจุบัน จะไม่ทอลวดลายผ้าโบราณ แต่จะทอลวดลายง่าย ๆ เพื่อผลิตตามความต้องการของตลาด
3. สภาพปัญหา อุปสรรค ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของทุน เทคนิค ตลาดและปัญหาคุณภาพของผ้าทอ เนื่องจากมีการเร่งการผลิตตามความต้องการของตลาดมากเกินไป
และปัญหาจากผ้าทอเลียนแบบจากโรงงานประเทศจีน ซึ่งมีราคาถูกเข้ามาตีตลาด มีผลกระทบ
ต่อตลาดของช่างทอ ผ้า การส่งเสริมเรื่องทุน ตลาด และการอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของผ้าทอ
จากหน่วยงานภาครัฐนั้นยังมีไม่เพียงพอ
4. การคงอยู่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการนุ่งผ้าซิ่น การที่ผู้หญิงลาว ยังคงรักษาวัฒนธรรมการนุ่งผ้าซิ่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนเป็นวิถีชีวิต อยู่ใน
จิตสำนึก เป็นความภาคภูมิใจและเป็นการแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ โดยหน่วยงาน
ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนโดยประกาศให้การนุ่งผ้าซิ่นผู้หญิงลาว เป็น
เอกลักษณ์และวัฒนธรรมประจำชาติ และจะต้องนุ่งซิ่น ในโอกาสต่าง ๆ เช่น เครื่องแบบ
เจ้าหน้าที่รัฐ เครื่องแบบนักเรียน/นักศึกษา และการไปติดต่อราชการ จึงทำให้การนุ่งผ้าซิ่น
ของผู้หญิงลาวยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

Article Details

บท
บทความวิชาการ