เปรียบเทียบหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำ และผลในกฎหมายละเมิดและกฎหมายอาญา

Main Article Content

นายพีรพจน์ ปิ่นทองดี
นายชาติชาย วิริยะเจริญกิจ

บทคัดย่อ

บทความนี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาและเสนอแนวทางในเรื่องหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ด้วยเหตุว่า เมื่อพิจารณากฎหมายทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอาญาแล้ว จะเห็นได้ว่ามิได้มีการวางหลักชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำ
และผล ส่วนแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลได้ใช้ถ้อยคำที่ไม่แน่ชัดว่าเป็นการวินิจฉัย
โดยอาศัยหลักทฤษฎีใดแน่ อีกทั้งนักกฎหมายส่วนใหญ่พิจารณาจากทฤษฎีและหลักเกณฑ์ที่ใช้
ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลในทางอาญา ทั้งที่ในความเป็นจริง
การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลในขอบเขตทางแพ่งและทางอาญานั้น
แตกต่างกัน
ดังนั้นบทความนี้จึงได้เปรียบเทียบหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
ในกฎหมายละเมิดและกฎหมายอาญา ( A comparison of the causation principle in tort law and criminal law) เพื่อความกระจ่างชัดในการวินิจฉัยคดีความ
หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลในกฎหมายละเมิดและกฎหมายอาญานั้น เรานำทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุหรือทฤษฎีเงื่อนไขมาใช้เป็นหลักเบื้องต้น แล้วนำทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมมาเป็นข้อยกเว้น โดยใช้ทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมในกรณีที่มีเหตุแทรกซ้อนเข้ามาคั่นกลางระหว่างเหตุต้นกับผลสุดท้าย กล่าวคือจะดูผลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าผลที่เกิดขึ้นมานั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุแรกเหตุเดียวที่ไม่ขาดตอนและใกล้ชิดกับเหตุ หรือมีเหตุอื่นมาแทรกเข้าไปด้วย ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีเหตุแรกที่ไม่ขาดตอนและใกล้ชิดกับเหตุเพียงเหตุเดียว
ที่ก่อให้เกิดผล ในกรณีนี้การวินิจฉัยก็ใช้ทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุหรือทฤษฎีเงื่อนไขเท่านั้น แต่ถ้าปรากฏว่ามีเหตุอื่นเข้ามาแทรกในการกระทำที่ขาดตอนไปแล้ว ในกรณีนี้การวินิจฉัย
ต้องพิจารณาทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมประกอบด้วย
แต่ในกรณีทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสม ในกรณีผลของการกระทำที่ทำให้ผู้กระทำ
ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ไม่ได้มี
บัญญัติไว้ในกฎหมายละเมิด ดังนั้นการใช้ทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมในกฎหมายอาญาในกรณีนี้
จึงแตกต่างจากกฎหมายละเมิด

Article Details

บท
บทความวิชาการ