การศึกษาความต้องการและความพร้อมของชุมชน ในการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในจังหวัดมหาสารคาม

Main Article Content

ผศ.ดร.ศศิธร เชาวรัตน์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและศึกษาความต้องการและความพร้อมของชุมชนในการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
เชิงนิเวศ ในจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ วนอุทยานโกสัมพี อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน และสวนวลัยรุกเวช กลุ่มเป้าหมายเป็นหัวหน้าหน่วยงาน
ผู้ประกอบการบุคคลในชุมชน และนักท่องเที่ยว จำนวน 260 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า
1. การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในจังหวัดมหาสารคามมีปัญหาและอุปสรรค
1) การบริหารขาดการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปสู่ผู้ปฏิบัติ และการกำหนดระบบและกลไกการพัฒนาไม่ครอบคลุมกระบวนการกำกับและประเมินผล
2) ขาดศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ระบบนิเวศเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถพัฒนาและฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และขาดความปลอดภัย 3) การจัดการ
การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ กำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่ชัดเจน ไม่สามารถควบคุมการเข้าออกพื้นที่ได้ การให้บริการขั้นพื้นฐานไม่ครบถ้วนและไม่ถูกสุขอนามัย และการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศ 4) การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก ขาดฐานข้อมูลและองค์ความรู้ระบบนิเวศและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ขาดมัคคุเทศก์ และช่องทางการสื่อสาร 5) การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ขาดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรอิสระ และสถานที่ท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2. ชุมชนมีความต้องการและความพร้อมในการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
เชิงนิเวศในจังหวัดมหาสารคาม โดยรวมและเป็นรายด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ การจัดการ
ด้านการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว
การมีส่วนร่วมของชุมชนในกิจกรรมการท่องเที่ยว และการจัดการด้านให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก ตามลำดับ เมื่อพิจารณาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศแต่ละแห่งพบว่า อันดับ 1
สวนวลัยรุกขเวช อันดับ 2 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน อันดับ 3 วนอุทยานโกสัมพี และอันดับ 4
อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย นักท่องเที่ยวมีความต้องการและความพร้อมในการพัฒนา
ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศในจังหวัดมหาสารคาม โดยรวมและเป็นรายด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ การจัดการด้านการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน การมีส่วนร่วม
ของชุมชนในกิจกรรมการท่องเที่ยว ศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และการจัดการ
ด้านให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก ตามลำดับ เมื่อพิจารณาความพร้อมโดยรวมของสถานที่
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศแต่ละแห่งพบว่า อันดับ 1 อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย อันดับ 2 สวนวลัย
รุกขเวช อันดับ 3 วนอุทยานโกสัมพี และอันดับ 4 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน 

Article Details

บท
บทความวิชาการ