พื้นที่ สภาวะของจิตใต้สำนึก
Main Article Content
บทคัดย่อ
วิจัยการสร้างสรรค์เรื่อง พื้นที่ สภาวะของจิตใต้สำนึก มีความมุ่งหมาย เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดจากประสบการณ์อันเลวร้ายเมื่อครั้งวัยเยาว์ของผู้วิจัยที่เคยได้รับจากครอบครัวที่แตกแยก พ่อแม่หย่าร้าง การพลัดพรากจากบุคคลที่รักเป็นเวลาอันยาวนานสิ่งเหล่านี้มีผลต่อจิตใจและการแสดงออกของพฤติกรรมในปัจจุบัน ก่อเกิดความทุกข์ ประสบการณ์นั้นนำมาสู่แรงบันดาลใจและเพื่อสร้างสรรค์ผลงานสื่อผสมจัดวางด้วยวัสดุ ลวด แสดงออกผ่านรูปแบบกึ่งนามธรรมโดยใช้กลวิธีทางทัศนศิลป์คือ เส้นจากวัสดุ นำมาผ่านกรรมวิธีการ ถัก ดัด ประสานจนทับซ้อน ก่อเป็นรูปทรงคล้ายบางส่วนของร่างกายมนุษย์ แสดงถึง สภาวะของจิตใต้สำนึก ติดตั้งในพื้นที่เฉพาะโดยมีวิธีดำเนินการสร้างสรรค์ โดยการรวบรวมข้อมูลจากแรงบันดาลใจเบื้องต้น ข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง และอิทธิพลจากผลงานศิลปกรรมนำมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาความชัดเจนของแนวเรื่อง รูปทรงสัญลักษณ์ และเทคนิคกลวิธี สร้างสรรค์โดยใช้ทัศนธาตุ วัสดุกลวิธี หลักการทางทัศนศิลป์ และสุนทรียศาสตร์ศิลป์ เพื่อตอบสนองแนวความคิดเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่มีลักษณะเฉพาะตน
ผลงานสร้างสรรค์ที่ประกอบในวิจัยสร้างสรรค์ชุดนี้ได้มีการนำไปเผยแพร่ตีพิมพ์โดยการนำส่งโครงการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ 2 ใน 3 ชิ้นของผลงานสร้างสรรค์ในวิจัยครั้งนี้ ได้รับพิจารณาให้ได้รับ รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทผลงานสื่อผสม ชื่อผลงาน “The Suffering” ในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 62 ประจำปี 2559 และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทผลงานสื่อผสม ชื่อผลงาน “ความทุกข์” ในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 63 ประจำปี 2560 ตามลำดับ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
ผลการวิจัยสร้างสรรค์ พบว่าการใช้ทัศนธาตุเส้นลวด มาถัก ดัด ประสาน เกิดเป็นรูปทรงที่คล้ายกับร่างกายมนุษย์ที่มีลักษณะห้อยย้อยจากเพดานทิ้งน้ำหนักลงสู่ส่วนล่างในรูปแบบกึ่งนามธรรม
ติดตั้งด้วยรูปแบบศิลปะการจัดวาง ในพื้นที่เฉพาะ สามารถสื่อความหมาย ถึง ความทุกข์ ที่มาจากสภาวะจิตใต้สำนึก ภายใต้กรอบแนวคิดอันเกิดจากแรงบันดาลใจประสบการณ์ส่วนตน ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกผ่านสื่อวัสดุและกลวิธี กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ร่วมสมัยที่มีความเป็นอัตลักษณ์มีคุณค่าทางความงาม เป็นการค้นพบใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะตน