รูปแบบการประยุกต์นาฏกรรมวงดนตรีลูกทุ่งในสถานศึกษาเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

Main Article Content

วราพร แก้วใส
ปัทมาวดี ชาญสุวรรณ
อุรารมย์ จันทมาลา

บทคัดย่อ

เพลงลูกทุ่งเป็นวัฒนธรรมบันเทิงคู่กับสังคมไทยมาช้านาน  ตั้งแต่สังคมชนบทจนถึงสังคมเมือง  เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึง วิถีชีวิต  ความเชื่อ  ตลอดจนประเพณี  และมีพัฒนาการมาตามยุคสมัย  ปัจจุบันมีการประกวดแข่งขันจนทำให้เกิดการสร้างสรรค์นาฏการประกอบวงดนตรีลูกทุ่งอย่างหลากหลาย  การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยรูปแบบการประยุกต์นาฏกรรมวงดนตรีลูกทุ่งในสถานศึกษาเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์  โดยมีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของนาฏกรรมในวงดนตรีลูกทุ่งในสถานศึกษา  สภาพปัจจุบันและปัญหาของนาฏกรรมในวงดนตรีลูกทุ่งในสถานศึกษาตลอดจนรูปแบบการประยุกต์นาฏกรรมวงดนตรีลูกทุ่งในสถานศึกษาเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์  โดยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารและเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามด้วยการสำรวจ  สังเกต  สัมภาษณ์ผู้รู้  จำนวน 3 คน ผู้ออกแบบท่าเต้น 3 คน นักเต้นจำนวน 15 คน นักดนตรีจำนวน 15 คน และประชาชน นิสิตนักศึกษา จำนวน 30 คน จากเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสำรวจ แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง และนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์


            ผลการวิจัยพบว่า ความเป็นมาของนาฏกรรมในวงดนตรีลูกทุ่งแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคแรก ยังไม่มีการแยกประเภทของเพลงสาระบรรยายถึงชีวิตชนบท ยุคที่ 2 เป็นยุคทองเริ่มมีเอกลักษณ์ลีลาและรูปแบบเฉพาะตัว นิยมใช้เพลงจังหวะรำวง ยุคที่ 3 ยุคแห่งการแข่งขันมีการแข่งขันเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งมีการนำเพลงลูกทุ่งมาประกอบภาพยนตร์ นาฏกรรมในวงดนตรีลูกทุ่งก็ได้พัฒนาจากรำโทน รำวง วงดนตรี สุนทราภรณ์  ลิเก  และกลายเป็นหางเครื่องในที่สุด


            รูปแบบการประยุกต์นาฏกรรมวงดนตรีลูกทุ่งในสถานศึกษามีหลักและวิธีการคือ 1. การสร้างแนวคิดโดยการจับประเด็นสำคัญจากเนื้อหาของเพลง 2. การกำหนดรูปแบบ ส่วนใหญ่เน้นการเต้นด้วยการใช้ร่างกาย 3. การประดิษฐ์ท่าเต้น จากการตีความจากเนื้อหาและอารมณ์ของเพลง 4. การออกแบบเครื่องแต่งกาย คำนึงถึงแนวคิดและรูปแบบ 5. การใช้พื้นที่ต้องกำหนดตำแหน่งเพื่อโชว์ท่าที่โดดเด่น  6. อุปกรณ์การแสดง ต้องช่วยเสริมบรรยากาศและทำให้โชว์สมบูรณ์อลังการขึ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดจากการประยุกต์นาฏกรรมวงดนตรีลูกทุ่ง ได้แก่การจ้างงาน เช่น การใช้โน้ตเพลง  การสอนดนตรี  การจ้างทีมทำโชว์  ทำเครื่องแต่งกายและการต่อยอดเป็นอาชีพ  อาทิ นักร้อง  นักดนตรี  ครูสอนเต้น  ครูสอนดนตรี เป็นต้น  


            โดยสรุปรูปแบบการประยุกต์นาฏกรรม นาฏกรรมในวงดนตรีลูกทุ่งเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นวิธีบูรณาการศาสตร์ทางด้านศิลปะการแสดงระหว่างความเป็นเอกลักษณ์ไทย กับความเป็นสากลให้ผสานลงตัวกับความเป็นลูกทุ่งได้อย่างสมบูรณ์  งดงาม  มีสุนทรียภาพ  และผลจากประยุกต์ยังทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินจนกลายเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกด้วย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ทวีเกียรติ ไชยยงยศ. (2538). สุนทรียทางทัศนศิลป์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : ฝ่ายเอกสารและตำรา
สถาบันราชภัฏสวนดุสิต.

ปัทมาวดี ชาญสุวรรณ. (2557). กลวิธีในการสร้างสรรค์นาฏกรรมไทย.จากวรรณกรรมพื้นถิ่นอีสาน.
มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2546). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โอเดียน.

พจมาลย์ สมรรคบุตร. (2557). แนวคิดประดิษฐ์ท่ารำเซิ้ง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). อุดรธานี: ภาควิชานาฏศิลป์คณะ
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี.

เพียงเพ็ญ ทองกล่ำ. (2553). การปรับปรุงทักษะความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ยุวดี พลศิริ. (2556). การสร้างสรรค์นาฏกรรมในวงดนตรีลูกทุ่งระดับมัธยมศึกษา จังหวัดมหาสารคาม.
วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยทางศิลปกรรมศาสตร์.

ศิริมงคล นาฏยกุล. (2559). พลวัตบัลเล่ต์ในอีสาน. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการวิจัยทางศิลปกรรม
ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

สุพรรณี บุญเพ็ง. (2556). นาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการวิจัยทางศิลปกรรม
ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

อรอนงค์ ทองมี. (2555). หลักสูตรเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริหารโรงเรียนการเรือนมหาวิทยาลัย
ราชภัฎสวนดุสิต. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

อารี สุทธิพันธ์. (2533). สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพฯ: กระดาษสา.