สภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของทายาทมัคคุเทศก์ท้องถิ่นสำหรับชุมชนการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

พรหมลิขิต อุรา

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของทายาทมัคคุเทศก์ท้องถิ่น สำหรับชุมชนการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง และเลือกพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยวแล้วในพื้นที่ของ 2 ชุมชน คือ หมู่บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และหมู่บ้านซะซอม ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับแกนนำชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วย สภาพปัญหาและความต้องการในด้านภาษา ด้านวิชาการ ด้านการนำเที่ยว และด้านการแก้ปัญหา ของทายาทมัคคุเทศก์นำเที่ยว ผลการวิจัยพบว่า


  1. การขาดความรู้ทางด้านภาษาในการสื่อสารของทายาทมัคคุเทศก์ ถึงแม้พื้นที่บ้านท่าล้งจะอยู่ใน เขตพื้นที่ของภาคอีสาน แต่ภาษาพูดของคนในชุมชนเป็นภาษาบรู บางครั้งมัคคุเทศก์ท้องถิ่นอธิบายข้อมูลแล้วนักท่องเที่ยวไม่เข้าใจในภาษาท้องถิ่น สำหรับชุมชนบ้านซะซอม มัคคุเทศก์นำเที่ยวก็สามารถพูดได้เพียงภาษาถิ่นหรือภาษาอีสาน ทำให้นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ และมัคคุเทศก์ทั้งสองชุมชนยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลได้ เนื่องจากการศึกษาของของมัคคุเทศก์ค่อนข้างต่ำ เพียงชั้นประถมศึกษาตอนต้นและมีอายุอยู่ในวัยสูงอายุทั้งสองชุมชน

  2. การความรู้ทางด้านวิชาการหรือมีความรู้ด้านวิชาการน้อยในการออกปฏิบัติงาน มัคคุเทศก์ท้องถิ่น ของทั้งสองชุมชนจะเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น จะขาดความรู้ทางด้านวิชาการที่จะอธิบายเสริมเพิ่มเติมให้กับนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากข้อมูลที่มีอยู่เดิม จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้ไม่เป็นที่น่าสนใจในวิทยาการใหม่ ๆ อันทันสมัย

  3. การไม่กล้าในการปฏิบัติหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว มัคคุเทศก์ทั้งสองชุมชน เมื่อพบกับนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างภูมิภาค และมีการศึกษาดี ส่วนมากจะขาดความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่มัคคุเทศก์นำเที่ยวไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

  4. การไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการนำเที่ยวของมัคคุเทศก์ท้องถิ่นทั้งสองชุมชนในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น การที่นักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุในการเดินชมแหล่งท่องเที่ยว โดยการติดต่อประสานงานระหว่างชุมชนและการที่นักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุจากยานพาหนะนำเที่ยวของชุมชน ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการท่องเที่ยวได้

Article Details

บท
บทความวิจัย