พัฒนาการและการสืบทอดการแสดงฟ้อนตังหวาย

Main Article Content

พิชิต ทองชิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ แวงวรรณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัควิทย์ เรืองรอง

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการและการสืบทอดด้านองค์ประกอบการแสดงฟ้อนตังหวาย ด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสารและข้อมูลภาคสนามด้วยการสังเกตและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้สร้างสรรค์การแสดง ผู้ปรับปรุงการแสดง นักร้อง นักแสดง และนักดนตรี จากนั้นวิเคราะห์เนื้อหาและนำเสนอเนื้อหาด้วยการพรรณนาวิเคราะห์ ทั้งนี้ ผ่านการรองรับจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ เลขที่ HE642003 ผลการวิจัย แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือพัฒนาการองค์ประกอบการแสดง และการสืบทอดองค์ประกอบการแสดง ดังนี้


ผลการวิจัยพบว่า 1.พัฒนาการของการแสดงฟ้อนตังหวายแบ่งได้ 3 ช่วง และมีองค์ประกอบการแสดง ดังนี้ ช่วงที่หนึ่ง การแสดงของชาวบ้านม่วงเจียด ผู้แสดงเป็นชาวบ้าน กลอนลำจะเปลี่ยนไปตามโอกาสที่แสดง ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เป็นการฟ้อนประกอบเพลงแบบนับจำนวนครั้งแล้วจึงเปลี่ยนกระบวนท่าฟ้อน และแต่งกายด้วยผ้าย้อมคราม ช่วงที่สอง การแสดงในสถาบันการศึกษาคือวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ผู้แสดงเป็นนักศึกษานาฏศิลป์ มีการเพิ่มทำนองลำยาวและเต้ยลาเข้ามา ใช้เครื่องดนตรีประเภทวงโปงลาง กระบวนท่าฟ้อน 2 ลักษณะ คือการฟ้อนตีบทตามเนื้อร้อง และการฟ้อนที่เปลี่ยนกระบวนท่าฟ้อนตามท่อนเพลง และเครื่องแต่งกายมีลักษณะร่วมระหว่างไทยกับลาว และช่วงที่สาม การแสดงในสถาบันการศึกษาสังกัดกรมศิลปากรคือวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ผู้แสดงเป็นนักเรียนนาฏศิลป์ กลอนลำมีสองรูปแบบคือ แบบแขวงสะหวันนะแขต ประเทศลาว และแบบจังหวัดอุบลราชธานี ใช้เครื่องดนตรีประเภทวงโปงลาง เป็นการฟ้อนประกอบเพลงแบบนับจำนวนครั้งแล้วจึงเปลี่ยนกระบวนท่าฟ้อน และเครื่องแต่งกายสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเหตุที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเป็นผลมาจากพื้นฐานความรู้ ความสามารถ การศึกษา ประสบการณ์ และรสนิยมของผู้สร้างสรรค์การแสดง ผู้แสดง นักดนตรี และนักร้อง ตลอดจนเกิดมาจากแนวคิดที่อยากจะสร้างอัตลักษณ์ให้การแสดงแตกต่างจากของเดิม 2.การสืบทอดการแสดงฟ้อนตังหวาย มีการสืบทอดอยู่ 3 ลำดับ และมีองค์ประกอบการแสดงที่มีการสืบทอดเพียง 3 ด้าน คือ


กลอนลำพร้อมทำนอง ลายดนตรี และกระบวนท่าฟ้อน ดังนี้ 1) ปี พ.ศ.2521 นายประดิษฐ์ แก้วชิณ ได้ถ่ายทอดกลอนลำพร้อมทำนอง และลายดนตรี ให้แก่คณะครูโรงเรียนอุบลวิทยาคม 2) ปี พ.ศ.2522 คณะครูโรงเรียนอุบลวิทยาคม ได้ถ่ายทอดกลอนลำพร้อมทำนอง ลายดนตรี และกระบวนท่าฟ้อน ให้แก่คณาจารย์วิทยาลัยครูอุบลราชธานี และ3) ปี พ.ศ.2524 คณาจารย์วิทยาลัยครูอุบลราชธานี จึงได้ถ่ายทอดกลอนลำพร้อมทำนอง ลายดนตรี และกระบวนท่าฟ้อน ให้แก่คณะครูวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biographies

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ แวงวรรณ, โครงการบัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัควิทย์ เรืองรอง, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

References

กอแก้ว ศิริกุล.(2553). การตั้งถิ่นฐานและการปรับปรนทางวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนเพื่อสร้างสังคมเข้มแข็งในจังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564, จาก https://tdc.thailis.or.th.
เครือจิต ศรีบุนนาค. (2554). ตำรานาฏกรรมพื้นบ้านอีสาน. โครงการจัดทำตำราและงานวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (พิมพ์ครั้งที่1). สุรินทร์: มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์.
คำล่า มุสิกา. (2562). ลำตังหวาย ศิลปะการแสดงสองฝั่งโขง. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 10(พิเศษ), สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563, จาก https://www.tci-thaijo.org.
พัชรา กิจปฐมมงคล. (2547). พิธีกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนในเขตเทศบาลนครนครปฐม. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564, จาก https://dric.nrct.go.th.
พีรพงศ์ เสนไสย. (2546). นาฏยประดิษฐ์. กาฬสินธุ์: ประสานการพิมพ์.
ยุทธศิลป์ จุฑาวิจิตร. (2560). ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน (Arts and Culture of Isan) เน้นนาฏยศิลป์. เอกสารประกอบการเรียนการสอนรายวิชาศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563, จาก https://fineart.msu.ac.th.
ศิริเพ็ญ อัตไพบูลย์. (2553). การขับลำลุ่มนำโขง : อุบลราชธานี-จำปาสัก. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี และวิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2529). รำตังหวาย. อุบลราชธานี: ยุติธรรมออฟเซ็ท.
สุรพล วิรุฬห์รักษ์. (2563, สิงหาคม). ละครชาตรี : ภาษาและวัฒนธรรมไทยในอนาคต. รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการในโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร : สำนักศิลปกรรม ประจำปีพุทธศักราช 2563 (น.28). อ่างทอง: วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์.
อินทิรา ซาฮีร์ และคณะ. (2561). โครงการการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.