อิทธิพลของการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ การเลือกร้านค้าออนไลน์ และการสื่อสารระหว่างบุคคล ที่มีผลต่อพฤติกรรมความตั้งใจซื้อเครื่องประดับเสริมสิริมงคล

ผู้แต่ง

  • นาย กันต์ รัตนบัญชร นักศึกษาปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยด้านการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ปัจจัยด้านการเลือกร้านค้าออนไลน์ การสื่อสารระหว่างบุคคล และพฤติกรรมความตั้งใจซื้อเครื่องประดับกำไลหินเสริมสิริมงคล ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมความตั้งใจซื้อเครื่องประดับกำไลหินเสริมสิริมงคล จำแนกตามลักษณะประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ ระดับรายได้ สถานภาพสมรส และศึกษาปัจจัยด้านการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ปัจจัยด้านการเลือกร้านค้าออนไลน์ และการสื่อสารระหว่างบุคคล ที่สามารถทำนาย พฤติกรรมความตั้งใจซื้อเครื่องประดับกำไลหินเสริมสิริมงคล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่บรรลุนิติภาวะมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้ด้วยตนเอง ด้านการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างมีประสบการณ์การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ อย่างน้อย 1 แอ๊ปพลิเคชั่น และด้านพฤติกรรมการซื้อสินค้า กลุ่มตัวอย่างยังไม่เคยซื้อเครื่องประดับกำไลหินเสริมสิริมงคลผ่านร้านค้าออนไลน์ จำนวนทั้งสิ้น 400 คน โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ (Online Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยประมวลผลข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป IBM SPSS Statistics เวอร์ชั่น 20 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ (Frequencies) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean)  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่ม (Independence t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way analysis of variance : ANOVA) และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้น (Stepwise Multiple Regression Analysis)

ผลการวิจัยพบว่า

1. ลักษณะประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ ระดับรายได้ และสถานภาพสมรส แตกต่างกัน ทำให้พฤติกรรมความตั้งใจซื้อเครื่องประดับกำไลหินเสริมสิริมงคลไม่แตกต่างกัน

2. ปัจจัยด้านการเลือกร้านค้าออนไลน์ ได้แก่ การรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับ และการสื่อสารระหว่างบุคคล สามารถทำนายพฤติกรรมความตั้งใจซื้อเครื่องประดับกำไลหินเสริมสิริมงคลของผู้บริโภค ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001  และอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรมความตั้งใจซื้อเครื่องประดับกำไลหินเสริมสิริมงคล ได้ร้อยละ 20.00 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001   

Additional Files

เผยแพร่แล้ว

2018-12-31