การใช้สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์และหลักบุคคลสิทธิ

ผู้แต่ง

  • อิสยาห์ เตจ๊ะฝั้น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

กรรมสิทธิ์, ลาภมิควรได้, ทรัพยสิทธิ, บุคคลสิทธิ, ติดตามและเอาคืน

บทคัดย่อ

จากการที่กฎหมายกำหนดบทบัญญัติในการเรียกคืนทรัพย์สินไว้หลายมาตรา ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการตีความและปรับใช้กฎหมายในแต่ละกรณี เนื่องจากคู่สัญญาอาจอ้างความคุ้มครองโดยอาศัยบทบัญญัติในหลายมาตรา โดยคู่สัญญาอาจอ้างความคุ้มครองโดยอาศัยทั้งทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิรวมกันมา จึงเกิดความคาบเกี่ยวระหว่างการใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ และการใช้สิทธิติดตามเอาคืนแบบกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิในทางทรัพย์ จึงเป็นปัญหาทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติเมื่อเกิดกรณีฟ้องเรียกคืนทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ซ้อนกับหลักลาภมิควรได้ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ

เมื่อผู้เขียนได้ศึกษาถึงการเป็นสิทธิเรียกร้องสำรองของลาภมิควรได้ในกฎหมายไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศได้แก่ฝรั่งเศสและเยอรมัน ตัวบทกฎหมายและแนวคำพิพากษาไม่ได้มีหลักที่ระบุถึงการลำดับการใช้สิทธิ หลักลาภมิควรได้ในกฎหมายไทยจึงมีลักษณะคล้ายกับหลักลาภมิควรได้ของเยอรมันคือไม่ได้มีลักษณะเป็นสิทธิสำรองและไม่ตัดสิทธิแม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกคืนฐานอื่น ขึ้นอยู่กับโจทก์ที่จะเลือกใช้สิทธิที่เป็นประโยชน์แก่ตน รวมถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละสิทธิ

นอกจากการใช้สิทธิเรียกคืนทรัพย์ที่ทับซ้อนกันจะส่งผลถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ผู้เขียนยังพบว่ามีการซ้อนทับกันในตัวบทกฎหมาย กล่าวคือหากเจ้าของใช้สิทธิติดตามเอาคืนตามมาตรา 1336 จะต้องนำมาตรา 1376 ที่ให้นำลาภมิควรได้มาปรับใช้โดยอนุโลมมาพิจารณาหรือไม่ จึงเป็นความทับซ้อนกันของการคืนทรัพย์ในบทบัญญัติในบรรพว่าด้วยเรื่องทรัพย์ เมื่อศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ในการยกร่างกฎหมายและเพื่อคุ้มครองผู้สุจริต ผู้เขียนเห็นว่าควรนำบทบัญญัติมาตรา 1376 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในกฎหมายลักษณะทรัพย์ที่บัญญัติเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินมาพิจารณาด้วย กล่าวคือ เมื่อผู้ครอบครองซึ่งสุจริตถูกฟ้องร้องโดยผู้มีสิทธิดีกว่า จึงจะเป็นผลให้อ้างมาตรา 1376 ประกอบมาตรา 415 ให้ไม่ต้องคืนดอกผล

จากการศึกษาคำพิพากษาของศาลฎีกาของไทยในการใช้สิทธิเรียกคืนทรัพย์พบว่าแนวทางที่ศาลใช้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักกรรมสิทธิ์ในทางทฤษฎีอยู่หลายประการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้อเท็จจริงในคดีที่อ้างหลักกรรมสิทธิ์เป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากกว่าในด้านอายุความ และเป็นการยากที่จะฟ้องคดีภายในอายุความได้ แต่ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่าควรตีความการใช้สิทธิติดตามเอาคืนตามมาตรา 1336 อย่างเคร่งครัด โดยต้องระบุตัวทรัพย์ที่แน่นอนและทรัพย์ยังคงอยู่ในความครอบครองของจำเลยตามหลักทฤษฎีของหลักกรรมสิทธิ์ เนื่องจากการที่ศาลตีความขยายไปถึงการทรัพย์สินเปลี่ยนเป็นเงินตรา หรือใช้ราคาแทนทรัพย์สิน เป็นการเอาเรื่องหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิมาปะปนกับหลักกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพยสิทธิ

References

จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 354-452 ว่าด้วยมูลแห่งหนี้ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์,พิมพ์ครั้งที่ 5, 2526).
จิตติ เจริญฉ่ำ, “ฎีกาวิเคราะห์ การคืนลาภมิควรได้ที่ไม่ได้อะไรคืนเลย” (2533) 2:13 วารสารอัยการ 13.
พระยามานวราชเสวี, บันทึกคำสัมภาษณ์พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2557).
วศุ ศิริมหาพฤกษ์, “ผลผูกพันของคำพิพากษาในไทย:ศึกษากรณีแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกา” (2557) 4:2 วารสารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 17.
โสภณ รัตนากร, "การฟ้องเรียกทรัพย์คืนมีอายุความหรือไม่" (2538) 42:1 ดุลพาห 15.
Andreas Rahmatian, A Comparison of German Moveable Property Law and English Personal Property Law (16 October 2020) German law archive < https://germanlawarchive.iuscomp.org/? p=340>.
Daniel Friedmann, “Unjust Enrichment Pursuance of Self-Interest and the Limits of Free Riding” (2003) 36:1 Loyola of Angeles Law Review 831.
John Bell, Sophie Boyron and Simon Whittaker, Principles of French Law (Oxford: Oxford University Press, 2008).
Mary-Rose McGuire, “National Report on the Transfer of Movables in Germany” in Wolfgang Faber (ed.), National Report on the Transfer of Movables in Europe Volume 3: Germany, Greece, Lithunia, Hungary (München: Sellier, 2010) 1.
Monika Hinteregger, "The Protection of Property Rights" in Sjef van Erp, Bram Akkermans (ed.), Cases, Materials and Text on Property Law (Oxford: Hart Publishing, 2012) 97.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-16

How to Cite

เตจ๊ะฝั้น อ. (2022). การใช้สิทธิในการเรียกคืนทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์และหลักบุคคลสิทธิ. วารสารวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, 13(1), 96–110. สืบค้น จาก https://so01.tci-thaijo.org/index.php/lawhcu/article/view/250855