Reading Graphic Design History: Image, Text, and Context

Main Article Content

Juthamas Tangsantikul

Abstract

หนังสือ Reading Graphic Design History: Image, Text, and Context เป็นหนังสือเล่มที่สองของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดวิด เรซแมน (David Raizman) ผู้ล่วงลับ หนังสือเล่มแรกของ เรซแมน History of Modern Design (2003) นับเป็นตำราเล่มสำคัญของชั้นเรียนประวัติศาสตร์การออกแบบ อย่างไรก็ดี Reading Graphic Design History มีความแตกต่างไปจาก History of Modern Design อยู่มาก ด้วย Reading Graphic Design History เจาะจงไปที่ประวัติศาสตร์ของงานออกแบบกราฟฟิกเจ็ดชิ้นในรูปแบบของกรณีศึกษา (case studies) ในขณะที่ History of Modern Design เป็นหนังสือแนวสำรวจทำเนียบชิ้นงานออกแบบไล่เรียงไปแต่ละยุคสมัย ตามลำดับเหตุการณ์ (chronological) ทั้งนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการสำรวจ ทั้งในรูปแบบของตำรา และการจัดการถ่ายทอดความรู้ในชั้นเรียนนั้น เรียกได้ว่าเป็นขนบปฏิบัติกระแสหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์การออกแบบซึ่งรับมาจากประวัติศาสตร์ศิลปะอีกทอด แน่นอนว่า การได้ ‘รู้จัก’ นักออกแบบคนสำคัญ ๆ และได้ ‘เห็น’ ชิ้นงานในทำเนียบงานออกแบบจากแต่ละยุคสมัยนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และมีประโยชน์อยู่มากสำหรับผู้ที่สนใจในพัฒนาการของศาสตร์ อย่างไรก็ดี ในการไล่เรียงสำรวจชิ้นงานโดยเอายุคสมัย และลำดับเหตุการณ์เป็นที่ตั้งนั้นอาจละเลยในรายละเอียด นำไปสู่การด่วนสรุปและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังที่จะได้เห็นใน Reading Graphic Design History เมื่อเรซแมนนำชิ้นงานออกแบบเจ็ดชิ้น บางชิ้นเป็นที่รู้จักดีจากทำเนียบงานออกแบบกราฟฟิกมาพิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้งในฐานะองค์ประธานตั้งต้น การอ่านชิ้นงานทั้งจากสภาวะเนื้อตัวของมันเอง และจากบริบทแวดล้อม นอกจากจะให้สาระความรู้ ที่มาที่ไปของงานแต่ละชิ้น รวมไปถึงสายสัมพันธ์ระหว่างตัวงานออกแบบกับปัจจัยแวดล้อมแล้ว เรซแมนยังสังเกตพบว่า บ่อยครั้งที่การอ้างอิงจากหนังสือและตำราประเภทสำรวจโดยไม่ฉุกคิดตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเหล่านั้น กลายเป็นการผลิตซ้ำเรื่องเล่าที่ทรงพลัง หากแต่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลงานเหล่านั้นไปด้วย ผู้วิจารณ์จึงเห็นคล้อยตามเรซแมนว่า แม้เราจะคุ้นตากับชิ้นงาน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้ลึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมันอย่างถูกต้อง หรือครบถ้วน ดังนั้น Reading Graphic Design History: Image, Text, and Context จึงเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์สายการออกแบบกราฟฟิกเพราะมีเนื้อหา รายละเอียดเกี่ยวกับงานออกแบบชั้นครูเหล่านี้แบบลงลึก และเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์สายการออกแบบโดยทั่วไป เพราะให้ตัวอย่างของการใช้ระเบียบวิธีที่ผู้วิจารณ์เชื่อว่า เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้มากที่จะปรับใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์การออกแบบในสังคมไทย


เกี่ยวกับผู้เขียน


ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดวิด เรซแมน (1951-2021) เรียนจบมาทางสายประวัติศาสตร์ศิลปะ มีความเชี่ยวชาญด้านเอกสารโบราณของสเปนในยุคกลาง จุดเปลี่ยนที่สำคัญในอาชีพนักวิชาการของ เรซแมน เกิดขึ้นในยุค1990s เมื่อเขาอาสาสอนรายวิชาประวัติศาสตร์การออกแบบให้กับ Drexel University ซึ่งตัวเขาเอง และ คาร์มา กอร์แมน (Carma Gorman) เพื่อนร่วมงานคนสำคัญ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Design History beyond the Canon ถึงช่วงเวลานี้ว่าเป็นยุคบุกเบิก กล่าวคือ เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริการิเริ่มให้มีการเรียนการสอนในด้านนี้ ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษยี่สิบปีก่อนหน้า เรซแมนและกอร์แมนยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า แม้พวกเขาจะอาศัยตำราที่เขียนโดยนักวิชาการจากเกาะอังกฤษเป็นแบบเรียน แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าตำราที่มีอยู่ในขณะนั้นยังไม่ใช่ตำราที่เหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรซแมนเริ่มค้นคว้าและพัฒนาเนื้อหาที่กลายมาเป็นหนังสือ History of Modern Design (กอร์แมน เองมีหนังสือประเภทสำรวจเช่นกัน) ทั้งเรซแมนและกอร์แมน ยังมีบทบาทมากในการจัดโครงการฤดูร้อน Teaching the History of Modern Design: The Canon and Beyond โดย NEH Summer Institute ในปี ค.ศ. 2015 ที่มุ่งเพิ่มพูนศักยภาพด้านการเรียนการสอน และการวิจัยในสายวิชาประวัติศาสตร์การออกแบบให้กับบุคลากรในด้านนี้ (Gorman & Raizman, 2019, pp. XII-XXIII)

Article Details

Section
Articles

References

Gorman, C., & Raizman, D. (2019). Foreword: A pre- and post-history of “Teaching the history of modern design: The canon and beyond.” In Kaufmann-Buhler, J., Pass, V. R., & Wilson, C. S. (Eds.), Design history beyond the canon (pp. XII-XXIII). London: Bloomsbury Visual Arts.

Heller, S. (2021). Foreword. In David Raizman (Ed.), Reading graphic design history: Image, text and context (p. XXVII). London: Bloomsbury.

Prown, J. D. (1982). Mind in matter: An introduction to material culture theory and method. Winterthur Portfolio, 17(1), 1-19.

Raizman, D. (2003). History of modern design. London: Lawrence King.

Raizman, D. (2021). Reading graphic design history: Image, text, and context. London: Bloomsbury.

Thongchai Winichakul. (2019, July 5). Cha ‘ha rueang’ kab prawatsat yang rai” (How to ‘question’ the history). Lecture presented for the Public Lecture, Faculty of Liberal Arts, Thammasat University. Retrieved June 1, 2022, from https://www.youtube.com/watch?v=bMQ1lYH_j2s