Editorial Note

Main Article Content

Kalayanee Senasu

Abstract

       วารสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การฉบับนี้มีความหลากหลายในเนื้อหาสาระ รวมทั้งประโยชน์จากระเบียบวิธีวิจัยที่หลากหลาย ประกอบด้วยบทความวิจัย 3 บทความ และบทความวิชาการ 2 บทความ พร้อมกับบทปริทัศน์ปิดท้ายเล่มเช่นเคย เริ่มจากบทความวิจัยที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถนะความเป็นผู้นำระดับสากล ความเชื่อมั่นในผู้นำ และประสิทธิผลในกระบวนการทำงานของทีม ของคุณณัชชา นิลแจ้ง และ ผศ.ดร.อรนุช พฤฒิพิบูลธรรม ตามมาด้วยบทความการพัฒนาเครื่องมือวัด องค์กรแห่งความสุขที่ใช้บุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตเป็นกรณีศึกษา ของคุณธัมมัฏฐิตตา อยู่เจริญ และคุณเจษฎา อังกาบสี ซึ่งได้ผลองค์ประกอบจำนวน 9 องค์ประกอบ ที่น่าสนใจ และสามารถนำไปเทียบเคียงกับเครื่องมือการวัดองค์กรแห่งความสุขของงานวิจัยอื่น ๆ ที่ได้พัฒนามาก่อนหน้านี้ ในส่วนของบทความวิจัยที่สามเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์และภาวะการกลัวการตกกระแส โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ของคุณเรือนรสสุคนธ์  จันทร์เจริญ และ ผศ.ดร. พิษนุ อภิสมาจารโยธิน ซึ่งค้นพบความสัมพันธ์เชิงบวกของการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับภาวะการกลัวการตกกระแสของนักศึกษากลุ่มตัวอย่างนี้


       สำหรับบทความวิชาการสองชิ้นในวารสารเล่มนี้ บทความชิ้นแรกเป็นการวิเคราะห์ผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมด้านงานทรัพยากรมนุษย์ปี พ.ศ. 2560 ของรศ.ดร.จิรประภา อัครบวร ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่าเกณฑ์รางวัลมีความสอดคล้องกับแนวคิดเชิงวิชาการในการพัฒนานวัตกรรม และการบริหารทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ บทความวิชาการสุดท้ายเป็นการรวบรวมวิวัฒนาการ การปรับตัวขององค์กร บทเรียน และแนวโน้มในอนาคตของการวิเคราะห์ด้านทรัพยากรมนุษย์ หรือ HR analytics ของคุณสุจิตรา พงศ์พิศุทธิ์โสภา ผศ.ดร.โษฑศ์รัตต         ธรรมบุษดี และคุณโรจลักษณ์ จักรไพวงศ์ ซึ่งบทความนี้จะช่วยให้ผู้ที่สนใจทางด้าน HR analytics ได้เห็นภาพในมุมกว้างและในเชิงลึกในด้านการนำไปใช้และความท้าทายในองค์กร ปิดท้ายด้วยบทปริทัศน์ที่ รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี ได้มาชวนให้อ่านหนังสือที่อาจารย์ได้ตั้งชื่อหัวเรื่องไว้อย่างน่าชวนติดตามว่า “ระบบทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์” กับ “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” เปิดโปงโดยแอนนิต้า ร๊อดดิกค์ นักธุรกิจหญิงกลิ้งโลกาภิวัฒน์ ซึ่งอ่านผู้อ่านสามารถพลิกไปค้นหาคำตอบในเล่มได้เลย


       กองบรรณาธิการตั้งใจที่จะพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเราได้เข้าร่วมระบบการจัดการและตีพิมพ์วารสารในระบบออนไลน์ (Thaijo 2) ซึ่งรองรับกระบวนการทำงานของวารสารตั้งแต่การรับบทความเข้ามาจนถึงการเผยแพร่วารสารทางออนไลน์ โดยจะเริ่มดำเนินการให้ผู้ส่งบทความในระบบออนไลน์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 เป็นต้นไป ดังนั้นจึงขอเชิญชวนนักวิจัย นักวิชาการทุกท่าน ส่งบทวิจัยของท่านมาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ร่วมการพัฒนาส่งเสริมงานวิจัยที่มีคุณภาพให้เผยแพร่ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

Article Details

Section
Editorial Note